Q : ผมอยากรู้ว่าคนสมัยก่อนนั้นเขาตื่นนอนกันได้อย่างไรครับ ในเมื่อยังไม่มีการคิดค้นนาฬิกาปลุก และไม่มีนาฬิกาไว้ดูเวลาอีกด้วย และนาฬิกาปลุกนั้นเริ่มใช้มาตั้งแต่เมื่อไรครับ ?
A : เรื่องการดูเวลาจากธรรมชาติรอบตัวและการตื่นนอนของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่น่าพิศวงอย่างมากครับ เพราะเราทุกคนก็เคยสงสัยว่าในยุคที่ยังไม่มีการแบ่งภาคเวลาและเขตเวลา นั้น มนุษย์จะตื่นนอนตอนเช้าไปทำกิจกรรมต่างๆ หรือทำไร่ทำสวนได้อย่างไร ถ้าย้อนไปในยุคก่อนคริสตกาล (B.C.) ที่ฝรั่งชอบอ้างอิงว่าเป็นยุคที่การศึกษาค้นคว้ายังไม่ถูกรวบรวมและเป็นรูปแบบมากนัก โดยยังเน้นความเชื่อพิธีกรรมกันอยู่ มนุษย์จะสามารถตื่นนอนและทำกิจกรรมได้อย่างไร สิ่งที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อก็คือ มนุษย์เราแม้จะไม่ได้รับความรู้ใดๆ ก็ยังมีสติปัญญาที่เฉียบแหลมอยู่ครับ เพราะเมื่อต้องตื่นเช้าตรู่ไปทำกิจกรรมสำคัญต่างๆ พวกเขาเหล่านั้นจะนิยมดื่มน้ำก่อนนอนเป็นจำนวนมากเพื่อให้ลุกขึ้นมาปัสสาวะบ่อยๆ และสังเกตจากสิ่งรอบข้างดูว่าตอนนี้มืดหรือสว่าง เมื่อตื่นมาแล้วเห็นยังไม่สว่างก็จะดื่มน้ำเพิ่มและนอนต่ออีกครั้ง เพื่อกะเวลาให้พอดีกับการต้องตื่นในตอนเช้า
และเพื่อให้มีความแม่นยำมากขึ้น นอกจากการดื่มน้ำก่อนนอนแล้ว มนุษย์ยังใช้สัตว์เป็นเครื่องเตือนการตื่นนอนอีกด้วย เช่น การฟังเสียงไก่ขันตอนพระอาทิตย์ขึ้น หรือเสียงฝูงนกบินออกไปหาอาหาร เรียกว่าในแต่ละพื้นที่ก็ต้องอาศัยสภาพภูมิศาสตร์และธรรมชาติเป็นตัวช่วยในการปลุกให้ตื่นนอนนั่นเอง หลังจากนั้นก็เริ่มมีการแบ่งคาบเวลาขึ้น โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘นาฬิกาแดด’ คือเมื่อเราสามารถตื่นนอนตอนเช้าได้แล้ว ก็อยากจะรู้อีกว่ามีเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ เท่าใด ในกรณีที่ต้องมีกิจกรรมมากกว่า 1 อย่าง นาฬิกาแดดถูกออกแบบในยุคอียิปต์โบราณราว 1,500 ปีก่อนคริสตกาล และนาฬิกาแดดก็ถูกใช้เรื่อยมา แต่มีข้อจำกัดมากมายหลายอย่างในการรักษาคาบเวลา เพราะถ้าฝนตกหรือไม่มีแดด รวมถึงเวลากลางคืนก็จะไม่สามารถหาคาบเวลาและคำนวณการตื่นนอนได้นั่นเอง ทำให้ช่วง 300 ปีก่อนคริสตกาลจึงเริ่มมีการใช้หอนาฬิกาน้ำที่ออกแบบให้แบ่งคาบเวลาได้ตลอดวันและ คืน เพื่อให้อ่านค่าเวลาได้อย่างชัดเจน และสามารถตื่นได้แม่นยำขึ้น โดยจำเป็นต้องมีคนดูแลหอนาฬิกาน้ำเพื่อคอยส่งเสียงตีบอกให้ประชาชนทั่วไปทราบว่า ตอนนี้เป็นเวลาอะไร
ในเวลาต่อมา ถึงยุคที่มนุษย์เรามีองค์ความรู้มากขึ้น สามารถแบ่งคาบเวลาได้แล้ว เช่น ระบบแสดงเวลาแบบ 12 ชั่วโมง แบบกลางคืน-กลางวัน ในยุโรปจึงนิยมสร้างหอนาฬิกาขนาดใหญ่ใจกลางเมืองหรือหอนาฬิกาประจำโบสถ์ต่างๆ เพื่อคอยตีเวลาบอกชาวเมืองในบริเวณใกล้เคียงว่าเวลานี้เป็นเวลาใด โดยให้ฟังจากจำนวนเสียงตีบอกของแต่ละช่วงเวลา ในประเทศไทยเองการตีบอกเวลาอาจจะไม่ได้เริ่มใช้หอนาฬิกาอย่างชาติยุโรป แต่เมื่อมีระบบคาบเวลาแล้ว ก็นิยมใช้การตีบอกเวลาบนหอตีที่แบ่งเป็นเสียงฆ้องและกลอง เพื่อแบ่งคาบนาที และชั่วโมง จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘ทุ่ม’ และ ‘โมง’ นั่นเอง ในยุโรปนอกจากฟังเสียงหอนาฬิกาอ้างอิงการตื่นนอนแล้ว ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมยังฟังเสียงหวีดแหลมจากการต้มน้ำของหม้อต้มเครื่องกำเนิดไอน้ำในโรงงานอีกด้วย เพราะคนงานจะต้องต้มหม้อน้ำให้เดือดจนสร้างแรงขับเคลื่อนให้เครื่องจักรก่อนการเริ่มงานในทุกวัน ก็เลยเสมือน เป็นนาฬิกาปลุกไปโดยปริยาย
แต่ที่กล่าวมาก็ยังไม่ถึงยุคนาฬิกาปลุกนะครับ ในช่วงยุครอยต่อตั้งแต่ปี 1800-1900 ในฝั่งยุโรปมีการค้าและอุตสาหกรรมมากมาย ทำให้ต้องตื่นนอนให้ตรงเวลาเพื่อให้เริ่มงานและทำกิจกรรมต่างๆ ได้ทันที จึงเกิดอาชีพใหม่ที่เรียกว่า ‘คนปลุกตื่นนอน’ หรือ ‘Knocker Upper’ (น็อคเกอร์ อัพเปอร์) ที่นิยมมากในอังกฤษ โดยจะคอยเคาะหน้าต่างหรือเป่าก้อนกรวดเล็กๆ ใส่เพื่อเตือนให้เจ้าของบ้านตื่นนอนได้ตรงเวลา บางรายอาจจะมีการใช้เสียงตีบอก หรือตะโกนร่วมด้วยก็ได้ครับ ที่บอกว่าคาบเกี่ยวยุคก็เพราะว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว มนุษย์เรามีนวัตกรรมนาฬิกาตั้งโต๊ะและนาฬิกาปลุกออกมาแล้ว แต่มีข้อเสียคือ หนัก ขนาดใหญ่ และแพงเกินกว่าที่คนชั้นกลางหรือคนไม่มีเงินทองมากนักจะสามารถซื้อมาใช้ในครัวเรือนได้ นาฬิกาตั้งโต๊ะและนาฬิกาปลุกช่วงยุคนั้นจึงเป็นของที่มีมูลค่าสูงและดูแลรักษายาก หน้าที่ ‘Knocker Upper’ จึงได้รับความนิยม เพราะตรงเวลาและประหยัดนั่นเอง และคนปลุกตื่นนอนก็ยังมีการใช้อยู่ในหลายๆ พื้นที่จนเลิกใช้อย่างถาวรในช่วงปลายยุค 1960s
ส่วนนาฬิกาปลุกนั้นมีประวัติที่สืบค้นได้หลากหลาย เช่น การประดิษฐ์นาฬิกาที่สามารถเตือนหรือปลุกได้จากกลไกในช่วงยุคศตวรรษที่ 15-16 แต่เป็นเพียงการใช้งานหรือทดลองเท่านั้น และตัวนาฬิกายังมีน้ำหนักมาก และไม่สามารถบอกคาบเวลาได้ชัดเจนเหมือนปัจจุบัน รวมถึงช่วงการปลุกที่ยังสามารถทำได้เพียงคาบเวลาเดียวด้วย จนกระทั่งปี 1847 ช่างนาฬิกาชาวฝรั่งเศส Antoine Redier (อองตวน เรดิเยร์) ได้คิดค้นและจดสิทธิบัตรนาฬิกาปลุกขึ้น จากนั้นก็ มีช่างนาฬิกาอีกหลายคนผลิตนาฬิกาปลุกและกลไกระบบปลุกเตือนออกสู่ท้องตลาดมากมายจนคนทั่วไปสามารถซื้อหามาใช้ได้ และทำให้มนุษย์เข้าสู่การตื่นนอนอย่างตรงเวลานั่นเอง (ในกรณีที่ตื่นตามเวลาปลุกจริงๆ นะ)