by: ‘TomyTom’
Omega (โอเมก้า) เสริมทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจยิ่งให้กับนาฬิกาที่อุทิศแด่ท้องทะเลตระกูล Seamaster Aqua Terra (ซีมาสเตอร์ อควา เทอร์รา) รุ่นที่มากับฟังก์ชัน ‘GMT Worldtime’ (จีเอ็มที เวิลด์ไทเมอร์) ซึ่งเพิ่มความสามารถให้นาฬิกาบอกเวลาแบบ 3 เข็ม สามารถแสดงเวลาของเขตเวลาทั่วโลกได้ อันเป็นฟังก์ชันที่เป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับนักเดินทาง ตลอดจนผู้จำเป็นต้องรู้เวลาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลด้านหน้าที่การงานหรือเรื่องส่วนตัว ทั้งยังเพิ่มความงามในเชิงความซับซ้อนของการตกแต่งและรูปแบบการแสดงค่าบนหน้าปัดไปพร้อมกัน และนี่ก็คือ 3 เวอร์ขั่นใหม่เอี่ยมของ Seamaster Aqua Terra 150M Co-Axial Master Chronometer GMT Worldtimer 43 MM (ซีมาสเตอร์ อควา เทอร์รา 150 เอ็ม โคแอ็กเชียล มาสเตอร์ โครโนมิเตอร์ จีเอ็มที เวิลด์ไทเมอร์ 43 เอ็มเอ็ม) ประกอบด้วยตัวเรือนไทเทเนียม 1 เวอร์ชั่น และตัวเรือนสเตนเลสสตีล อีก 2 เวอร์ชั่น
รูปแบบหน้าปัดและการแสดงค่าของเวอร์ชั่นใหม่ทั้ง 3 นี้มาในลักษณะเดียวกัน คือการใช้หน้าปัดส่วนกลางวัสดุไทเทเนียมเกรด 5 ซึ่งมีผิวสีเทาสว่าง ตกแต่งเป็นภาพโลกจำลองในมุมมองจากขั้วโลกเหนือ โดยสร้างภาพจำลองภาคพื้นทวีปขึ้นจากเทคนิคการระเหยภายในพื้นผิวจากการฉายเลเซอร์ ตกแต่งด้วยสีทองกับสีเทาเงินที่มีการแรเงาโทนคล้ำให้ดูมีมิติ พร้อมข้อความ ‘Seamaster’ สีทองผิวนูน ล้อมด้วยแถบวงแหวนกรุกระจกเฮซาไลท์ ให้อ่านค่าเวลาของเมืองอันเป็นตัวแทนเขตเวลาทั้ง 24 ของโลกจากจานแสดงเวลา 24 ชั่วโมง ที่แบ่งพื้นเป็นสีขาวกับสีเข้มเพื่อบอกช่วงเวลากลางวัน-กลางคืน ส่วนชื่อเมืองหลักทั่วโลกที่เป็นตัวแทนของ 24 เขตเวลา จะปรากฏอยู่บนวงแหวน 2 วง ริมหน้าปัด โดยมีเมืองเบียนน์ (Bienne) บ้านเกิดของ Omega เป็นหนึ่งในนั้น แต่มีแค่ลอนดอน (London) อันเป็นตัวแทนแห่งเวลามาตรฐานสากลทั้ง GMT และ UTC เท่านั้นที่ใช้ตัวอักษรสีแดง เพื่อให้สังเกตเห็นได้ชัดเจน ซึ่งสำหรับหน้าปัดของเวอร์ชั่นไทเทเนียมจะพิเศษกว่าตรงที่ ข้อความ สี และสัญลักษณ์ต่างๆ ถูกสร้างขึ้นด้วยเลเซอร์ทั้งหมด มิใช่การประทับพิมพ์ แม้แต่สีแดงของคำว่า ‘London’ ก็เป็นการบรรจงลงสีด้วยมือ กรอบหน้าต่างวันที่เจาะเป็นช่องเหลี่ยมไว้ที่ 6 นาฬิกา ซึ่งมีความแตกต่างตรงที่ของเวอร์ชั่นเรือนไทเทเนียมจะเป็นกรอบทรงสี่เหลี่ยมคางหมูขอบมน ในขณะที่ของเวอร์ชั่นเรือนสเตนเลสสตีลจะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมทรงถังเบียร์ขอบมน
เวอร์ชั่นตัวเรือนไทเทเนียม ซึ่งเป็นไทเทเนียมเกรด 2 ที่มีสีผิวเทาทึบ ตกแต่งด้วยการปัดลาย จะมาพร้อมกับขอบตัวเรือนเซรามิกสีดำผิวปัดลาย จับคู่กับสายยางสีดำผิวลายสานที่เดินตะเข็บด้ายสีเทาที่แนวริมทั้ง 2 ฝั่ง อันเป็นสายที่ออกแบบมาในสไตล์ ‘Integrated’ (อินทีเกรเตด) ให้ประสานเข้ากับตัวเรือนอย่างแนบสนิท พร้อมข้อตกแต่งและตัวล็อกแบบบานพับที่ทำจากไทเทเนียมเกรด 2 ผิวปัดลาย และใช้หน้าปัดไทเทเนียมเกรด 5 โทนสีเทาสลับสีดำผิวด้านที่สร้างลักษณะทั้งหมดบนหน้าปัดด้วยเทคนิคการระเหยภายในพื้นผิวจากการฉายเลเซอร์ รวมถึงการสร้างสี ตลอดจนชื่อเมือง สัญลักษณ์ สเกล และข้อความทั้งสีขาวกับสีดำด้วย ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีระดับสูงสุดในการสร้างรูปแบบและตกแต่งหน้าปัดนาฬิกา ส่วนเข็มและหลักชั่วโมงก็ถูกทำให้เป็นสีดำแล้วฉาบเติมด้วยสารเรืองแสง ‘Super-LumiNova’ (ซูเปอร์ลูมิโนวา) สีขาว ซึ่งเรืองสว่างเป็นสีฟ้าในความมืด สำหรับจาน 24 ชั่วโมง ใช้เป็นพื้นสีขาวสลับดำ ตัดกับเลขสีเทากับสีขาว ส่วนจานวันที่ก็เป็นพื้นสีดำตัวเลขขาวเข้ากัน
ส่วน 2 เวอร์ชั่นใหม่ของแบบตัวเรือนสเตนเลสสตีล ผิวปัดลายสลับขัดเงานั้น ความแตกต่างอยู่ที่ชนิดสายที่ติดตั้งมาเท่านั้น โดยหนึ่งมากับสายสเตนเลสสตีลพร้อมตัวล็อกแบบปีกผีเสื้อ และหนึ่งมากับสายยางแบบ ‘Integrated’ สีเขียวเย็บด้ายสีเทา พร้อมข้อตกแต่งที่เป็นสเตนเลสสตีลผิวเงา และตัวล็อกแบบบานพับสเตนเลสสตีลผิวขัดเงาสลับปัดลาย นอกจากนี้ก็เหมือนกันทุกประการ เริ่มจากขอบตัวเรือนเซรามิกสีเขียวผิวปัดลายสลับขัดเงา หน้าปัดสีเขียวที่เคลือบด้วยเทคนิค PVD สลักผิวเป็นลายเส้นโค้งละม้ายเส้นแวงของลูกโลก และปัดลายผิวในแบบ ‘Sun-brushed’ (ซันบรัชด์) เสริมความมลังเมลืองด้วยเข็มกับหลักชั่วโมงที่สร้างขึ้นจากทอง ‘Moonshine™’ (มูนไชน์) 18K อันเป็นทองสูตรเฉพาะตัวของ Omega เติมด้วยสารเรืองแสง ‘Super-LumiNova’ สีขาว ส่วนชื่อเมืองต่างๆ ตลอดจนสเกล ข้อความ และสัญลักษณ์จะประทับพิมพ์ด้วยสีทอง เว้นแต่ ‘London’ ที่พิมพ์เป็นสีแดง ในส่วนของจาน 24 ชั่วโมง เป็นพื้นสีขาวสลับเขียวตัดกับเลขสีเขียวกับสีขาว และใช้จานวันที่เป็นพื้นสีเขียวตัวเลขขาว
ภายในตัวเรือนขนาด 43.0 มิลลิเมตร หนา 14.1 มิลลิเมตร ผนึกกระจกหน้าปัดคริสตัลแซพไฟร์ทรงโดม เคลือบสารกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ฝั่ง และใช้เม็ดมะยมแบบขันเกลียวที่ส่งผลให้กันน้ำได้ 150 เมตร ของทั้ง 3 เวอร์ชั่นใหม่ ห่อหุ้มกลไกอัตโนมัติ ‘In-house’ (อินเฮาส์) พลังงานสำรอง 60 ชั่วโมง ความถี่ 25,200 ครั้ง/ชั่วโมง Cal.8938 บอกเวลา 3 เข็ม พร้อมฟังก์ชันวันที่ ฟังก์ชัน ‘Time Zone’ (ไทม์ โซน) ให้ปรับเลื่อนเข็มชั่วโมงเป็นจังหวะละชั่วโมงได้ เพื่อความสะดวกในการปรับเวลาเมื่อเดินทางข้ามเขตเวลา และฟังก์ชัน ‘GMT-Worldtimer’ แสดงเวลาแบบ 24 ชั่วโมง ของเขตเวลาทั้ง 24 ทั่วโลก โดยอ้างอิงจากชื่อเมืองอันเป็นตัวแทนของแต่ละเขตเวลาที่อยู่บนหน้าปัด ที่สร้างความแม่นยำสูงด้วยระบบปล่อยจักรแบบ ‘Co-Axial’ ร่วมด้วยสายใยจักรกลอกซิลิกอน พร้อมคุณสมบัติต้านทานสนามแม่เหล็กได้ถึง 15,000 เกาส์ และผ่านเกณฑ์การทดสอบตามมาตรฐาน ‘Master Chronometer’ อันเข้มงวดของ ‘METAS’ (เมตาส) ที่กระทำกับกลไกซึ่งต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐานโครโนมิเตอร์ของ COSC มาก่อนแล้ว อันเป็นบรรทัดฐานคุณภาพของ Omega ณ ปัจจุบัน ซึ่งสามารถชมลายแต่งแถบริ้วคลื่น ‘Geneva Wave’ (เจนีวา เวฟ) แบบอาหรับบนโรเตอร์และสะพานจักรเคลือบโรเดียมได้จากฝาหลังกรุคริสตัลแซพไฟร์ สำหรับน้ำหนักโดยรวมของนาฬิกานั้น เมื่อเทียบกันระหว่างเวอร์ชั่นตัวเรือนไทเทเนียมกับเวอร์ชั่นตัวเรือนสเตนเลสสตีลที่จับคู่มากับสายยางเหมือนกันแล้ว เวอร์ชั่นไทเทเนียมจะเบากว่ามากพอควร โดยอยู่ที่ประมาณ 94.0 กรัม ในขณะที่เวอร์ชั่นสเตนเลสสตีลจะหนักประมาณ 120.0 กรัม
ราคาจำหน่ายสำหรับ 3 เวอร์ชั่นใหม่ ของ Seamaster Aqua Terra 150M Co-Axial Master Chronometer GMT Worldtimer 43 MM อยู่ที่ 378,000 บาท สำหรับเรือนสเตนเลสสตีลคู่สายยาง ขยับมาเป็น 386,000 บาทสำหรับรุ่นเรือนและสายสเตนเลสสตีล และ 438,000 บาท สำหรับเรือนไทเทเนียมสายยาง