UN HEADER 23
UN HEADER 23
Home Articles AUDEMARS PIGUET ROYAL OAK OFFSHORE SELFWINDING CHRONOGRAPH WITH CALFSKIN LEATHER STRAP -...

AUDEMARS PIGUET ROYAL OAK OFFSHORE SELFWINDING CHRONOGRAPH WITH CALFSKIN LEATHER STRAP – สง่าหรูคู่สายหนังลายผิวผ้า

by: ‘TomyTom’

 

Audemars Piguet (โอเดอมาร์ส ปิเกต์) เสริมทางเลือกใหม่ให้กับนาฬิกาพันธุ์บึกบึน Royal Oak Offshore (รอยัล โอ๊ก ออฟชอร์) แบบ Selfwinding Chronograph (เซลฟ์ไวน์ดิง โครโนกราฟ) ในร่างขนาด 43.0 มิลลิเมตร ของตนด้วย 2 เวอร์ชั่นใหม่ ที่จับคู่มากับสายหนังวัวปั๊มแต่งผิวเป็นลายผ้าน่าสวมใส่ ร่วมกับวัสดุตัวเรือนแบบผสมผสานเพื่อให้เกิดภาพเปรียบต่างสูง ได้แก่ Ref.26420CE.OO.A043VE.01 ร่างเซรามิกสีดำ ร่วมกับเซรามิกสีน้ำเงิน และไทเทเนียม กับโทนการตกแต่งสีน้ำเงิน และ Ref.26420OI.A015VE.01 ร่างทองชมพู 18K ร่วมกับไทเทเนียม และเซรามิกสีดำ กับโทนการตกแต่งสีเทา

MITSUBISHI

 

ดีไซน์ในองค์รวมของ 2 เวอร์ชั่นใหม่นี้ เน้นความสำคัญไปหลักสรีรศาสตร์ เห็นได้จากงานเกลาเหลี่ยมลบมุมคมตามแนวขอบ แนวโค้งบางๆ ที่เม็ดมะยมชนิดขันเกลียว และปุ่มกดจับเวลา รวมถึงแนวโค้งบางๆ จากตำแหน่ง 6 สู่ 12 นาฬิกาของแผ่นกระจกหน้าปัดแซพไฟร์คริสตัลเคลือบสารกันแสงสะท้อน ที่รับกับความโค้งบางๆ ที่สันของขอบตัวเรือนได้อย่างน่าประทับใจ โดยการกันน้ำของตัวเรือนขนาด 43.0 มิลลิเมตร หนา 14.4 มิลลิเมตร นี้สามารถกระทำได้ถึงระดับ 100 เมตร ขณะที่หน้าปัดมากับลายผิวนูนแบบตารางใหญ่ ‘Méga Tapisserie’ (เมกา ทาพิสเซอรี) ติดตั้งหลักชั่วโมงทรงบาตอง และเคลือบสารเรืองแสงสีขาวมาให้บนหลักชั่วโมงและเข็ม (เว้นแต่เข็มวินาที) ส่วนสายหนังวัวปั๊มผิวลายผ้านั้นมีระบบถอดเปลี่ยนสายโดยสะดวกติดตั้งมาด้วย เพื่อให้เจ้าของสลับใช้งานกับสายยางสีดำที่มอบมาให้อีกเส้นหนึ่งได้อย่างง่ายดาย

 

หน้าปัดย่อย 3 วง ณ ตำแหน่ง 3, 6 และ 9 นาฬิกา อันประกอบด้วยหน้าปัดจับเวลา 12 ชั่วโมง หน้าปัดวินาที และหน้าปัดจับเวลา 30 นาที และช่องหน้าต่าง ณ ตำแหน่ง 4-5 นาฬิกา สำหรับแสดงวันที่บนจานดิสก์นี้ ขับเคลื่อนด้วยกลไก ‘In-house’ (อินเฮาส์) อัตโนมัติพร้อมกลไกโครโนกราฟจับเวลาชนิด ‘Column-wheel’ (คอลัมน์วีล) ร่วมกับ ‘Vertical-clutch’ (เวอร์ติคัลคลัตช์) โครงสร้าง ‘Integrated’ (อินทีเกรเตด) รวมผสานเป็นกลไกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32.0 มิลลิเมตร หนา 6.8 มิลลิเมตร จำนวนชิ้นส่วนรวม 381 ชิ้น ทับทิม 40 เม็ด ความถี่การทำงาน 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง สำรองพลังงานได้ 70 ชั่วโมง Cal.4401 ที่มีฟังก์ชัน ‘Flyback’ (ฟลายแบ็ก) มาด้วย ซึ่งยังคงมีสถานะเป็นกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟแบบ ‘Integrated’ คาลิเบรอล่าสุดของ Audemars Piguet อยู่ ณ วันนี้ โดยมีการตกแต่งชิ้นส่วนกลไกให้สวยงามอย่างเต็มที่ ซึ่งมีทั้งลายแถบริ้ว ‘Côtes de Genève’ (โกตส์ เดอ เฌอแนฟ) แต่งผิวเกรนแนววง ปัดลาย ‘Sunray’ (ซันเรย์) และขัดเงาบริเวณแนวเกลาลบเหลี่ยมที่ส่วนขอบ ตลอดจนโรเตอร์ฉลุโปร่งผิวรมดำ ซึ่งสามารถชื่นชมได้เต็มสายตาผ่านฝาหลังชนิดกรุแซพไฟร์คริสตัล

=

 

Ref.26405CE.OO.A043VE.01 มาในตัวเรือนที่ทำจากเซรามิกสีดำ ตัดกับเซรามิกสีน้ำเงินของขอบตัวเรือน ปุ่มกด และเม็ดมะยม และสีเทาเงินของไทเทเนียมที่สร้างเป็นชิ้นบ่าปกป้องปุ่มกดกับเม็ดมะยมจากการกระทบกระแทก ชิ้นยอดเม็ดมะยม วงฝาหลัง และข้อยึดสาย ส่วนหน้าปัดถูกทำสีเป็นน้ำเงินเข้มที่ไล่เฉดรมจนมืดบริเวณขอบ ร่วมกับหน้าปัดย่อยสีดำล้อมกรอบเงิน พร้อมหลักชั่วโมงและเข็มที่ทำจากทองขาว แล้วล้อมทั้งหมดด้วยวงขอบหน้าปัดพื้นลาดสีดำ พิมพ์สเกลต่างๆ ด้วยสีขาวทั้งหมด รวมถึงตัวเลขวันที่บนจานสีน้ำเงินเข้ม ขณะที่ตราสัญลักษณ์ AP ใช้เป็นชิ้นงานสีเงิน แล้วจับคู่มากับสายสีน้ำเงินเย็บด้ายสีดำพร้อมหัวเข็มขัดไทเทเนียม

 

ส่วน Ref.26420OI.A015VE.01 ใช้ตัวเรือนทองชมพู 18K โดยให้สีทองอบอุ่นหรูหราของตัวเรือน วงฝาหลัง และชิ้นยอดเม็ดมะยม ตัดกับไทเทเนียมสีเทาเงินอุ่นตาของขอบตัวเรือน บ่าปกป้อง และข้อยึดสาย และเซรามิกสีดำของเม็ดมะยมและปุ่มกด ขณะที่หน้าปัดใช้เป็นสีเทา ร่วมกับหลักชั่วโมง เข็ม และชิ้นตรา AP ทองชมพู โดยมีหน้าปัดย่อยสีดำล้อมขอบทองชมพู ส่วนขอบหน้าปัดแนวลาดเป็นสีดำพิมพ์สเกล ‘Tachymeter’ (ทาคีมิเตอร์) สีขาว หากเลขวันที่ถูกพิมพ์ด้วยสีดำบนจานสีเทา สอดคล้องกับสเกลสีดำบนหน้าปัดสีเทา และคาดข้อมือด้วยสายสีเทาเย็บด้ายสีดำ พร้อมหัวเข็มขัดทองชมพู 18K

 

ราคาจำหน่ายของทั้ง 2 เวอร์ชั่นนี้ ทาง Audemars Piguet มิได้เปิดเผยไว้บนเว็บไซต์ของตน แต่ระบุไว้ว่า ‘Price on Request’ (ไพรซ์ ออน รีเควสต์) ดังนั้นหากสนใจก็คงต้องสอบถามกับทางบูติกโดยตรง

SEIKO JUNE 23 CONTENT RGT
Luxe Time Pop Up