by: ‘TomyTom’
ปี 2022 นี้ Blancpain (บลองแปง) นำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับนาฬิกาสปอร์ตจับเวลา Fifty Fathoms Bathyscaphe Flyback Chronograph (ฟิฟตี ฟาธอมส์ บาธีสเคป ฟลายแบ็ก โครโนกราฟ) กันอีกแล้วด้วย 2 วัสดุใหม่ คือทองชาด 18K และไทเทเนียมเกรด 23 ซึ่งแต่ละเอดิชั่นจะมากับสีหน้าปัดต่างกันตามบุคลิกที่นักออกแบบตั้งใจให้เป็น
อย่างที่ทราบกันดีว่านาฬิกา Bathyscaphe ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 1956 ด้วยความมุ่งหมายให้เป็นอุปกรณ์บอกเวลาสำหรับนักประดาน้ำ โดยจะมีขนาดเล็กที่กว่า Fifty Fathoms รุ่นต้นฉบับที่ออกมาตั้งแต่ ค.ศ. 1953 แต่กลับมีฟังก์ชันบอกวันที่มาให้ด้วย ซึ่งลักษณะปรากฏของมันก็เป็นที่ถูกใจผู้หลงใหลนาฬิกาสไตล์สปอร์ตมากทีเดียว Blancpain ในยุคหลังจึงเอามันกลับมาทำใหม่ และจงใจบรรจุเป็นหนึ่งรูปแบบของตระกูล Fifty Fathoms ซึ่งเป็นหนึ่งในคอลเลกชั่นหลักของแบรนด์ ณ ปัจจุบัน โดยวางตำแหน่งให้เป็นนาฬิกาสไตล์ดำน้ำสำหรับคนเมือง ส่วน Fifty Fathoms Bathyscaphe Flyback Chronograph นั้นเปิดตัวครั้งแรกในปี 2014 โดยมากับคอมพลิเคชั่นน่าหลงใหลอย่างฟังก์ชันจับเวลาพร้อมระบบ ‘Flyback’ และไม่ลืมที่จะมอบฟังก์ชันวันที่มาให้ด้วย
สำหรับเอดิชั่นที่ออกมาใหม่ในปีนี้ มีทั้งแบบตัวเรือนทองชาด 18K ปัดลายซาตินซึ่งเคียงคู่มากับหน้าปัดสีน้ำเงินเข้มแบบไล่เฉดอ่อน-เข้มจากส่วนกลางสู่แนวริม และปัดลายผิวแบบ ‘Sunburst’ (ซันเบิรสต์) ร่วมด้วยการแต่งลาย ‘Snail’ (สเนล) บนผิวหน้าปัดย่อย เพื่อให้เกิดมิติความลึกและความต่าง และใช้เข็มกับหลักชั่วโมงสีทอง เคลือบสารเรืองแสงสีขาวไว้บนหลักชั่วโมงกับเข็มบอกเวลา และมีการเคลือบสีแดงไว้บนส่วนปลายของเข็มจับเวลาวินาทีด้วย ในขณะที่ขอบตัวเรือนชนิดหมุนได้ทิศทางเดียวที่ทำจากทองชาด 18K นั้นประกบด้วยแผ่นวงแหวนเซรามิกสีน้ำเงินเข้มผิวเงา พร้อมสเกลสีทองซึ่งเกิดขึ้นจากเทคนิค ‘Ceragold’ (เซราโกลด์) ส่วนสายที่ติดตั้งมาให้จะเลือกได้ระหว่างสายแบบ ‘NATO’ (นาโต) สีน้ำเงินเข้ม หรือสายผ้าใบสีน้ำเงินเข้มซึ่งมีตัวล็อกให้เลือกทั้งแบบหัวเข็มขัดและแบบบานพับ ราคาจำหน่ายตั้งไว้ที่ 31,030 ยูโร หรือราว 1.156 ล้านบาท สำหรับเวอร์ชั่นสายผ้าใบ
ส่วนแบบตัวเรือนไทเทเนียมเกรด 23 ปัดลายซาติน ที่งามสงบด้วยหน้าปัดสีแอนธราไซต์โทนอ่อน ผิวปัดลาย ‘Sunburst’ ร่วมกับลาย ‘Snail’ บนวงหน้าปัดย่อย ส่วนเข็มทั้งหมดมาในโทนสีเข้ม เว้นแต่ส่วนปลายของเข็มจับเวลาวินาทีที่เคลือบด้วยสีแดง แต่ก็ยังมองเห็นเวลาได้ชัดเจนจากสารเรืองแสงสีขาวที่เคลือบบนเข็มบอกเวลาและหลักชั่วโมง ล้อมทั้งหมดด้วยวงขอบตัวเรือนไทเทเนียมที่ติดตั้งแผ่นวงแหวนเซรามิกสีแอนธราไซต์โทนอ่อนผิวปัดลายซาติน พร้อมสเกลสีเงินจากเทคนิค ‘Liquidmetal’ (ลิควิดเมทัล) โดยไทเทเนียมเกรด 23 ที่นำมาใช้กับรุ่นนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเกรด ‘5 ELI’ (Extra Low Interstitials – เอ็กซ์ตรา โลว์ อินเตอร์สติเชียลส์) ซึ่งเป็นชนิดไทเทเนียมที่บริสุทธิ์ที่สุดแล้ว เพราะมีปริมาณออกซิเจนน้อยกว่าไทเทเนียมเกรดที่ใช้กันทั่วไปในวงการนาฬิกาอย่างชัดเจน ปริมาณออกซิเจนที่น้อยกว่าจะช่วยเพิ่มความทนทานต่อการแตกหักและการกัดกร่อนให้กับโลหะ ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้อีกด้วย จึงทำให้ไทเทเนียมเกรด 23 เป็นที่นิยมในการนำมาทำอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับสายที่จับคู่กับตัวเรือนไทเทเนียมจะมีให้เลือกทั้งแบบ ‘NATO’ สีเทา สายผ้าใบสีเทา และสายไทเทเนียม ราคาจำหน่ายกำหนดไว้ที่ 16,400 ยูโร หรือราว 611,000 บาท สำหรับเวอร์ชั่นสายผ้าใบ แต่ถ้าต้องการจับคู่กับสายไทเทเนียมจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 19,060 ยูโร หรือราว 710,000 บาท
กลไกที่ขับเคลื่อนที่บรรจุอยู่ในตัวเรือนนาฬิกาขนาด 43.0 มิลลิเมตร หนา 14.9 มิลลิเมตร ผนึกหน้าปัดและฝาหลังด้วยแผ่นคริสตัลแซพไฟร์ กันน้ำได้ถึงระดับ 30 บาร์ (เทียบเท่า 300 เมตร) คืออีกจุดเด่นของนาฬิการุ่นนี้ เพราะเป็นหนึ่งในกลไกโครโนกราฟที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของวงการนาฬิกา นั่นก็คือกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟพร้อมฟังก์ชันวันที่ สำรองพลังงานได้ 50 ชั่วโมง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 31.8 มิลลิเมตร หนา 6.65 มิลลิเมตร จำนวนทับทิม 37 ชิ้น จำนวนชิ้นส่วนรวม 322 ชิ้น Cal.F385 หนึ่งในกลไก ‘In–house’ (อินเฮาส์) โครโนกราฟตระกูลล่าสุดของแบรนด์ ที่มากับระบบกลไกจับเวลาสูงสุด 12 ชั่วโมง พร้อม ‘Vertical-clutch’ (เวอร์ติคัล คลัตช์) ที่ทำให้การเริ่มจับเวลาเป็นไปอย่างราบรื่นไร้การกระโดดของเข็ม และควบคุมการเริ่ม หยุด และรีเซตเข็มด้วย ‘Column-wheel’ (คอลัมน์วีล) นำมาซึ่งความราบรื่นและสัมผัสที่น่าประทับใจเมื่อกดปุ่มสั่งการ ทั้งยังเด่นด้วยฟังก์ชัน ‘Flyback’ ที่กดสั่งเริ่มจับเวลาครั้งใหม่ได้ในทันที โดยไม่ต้องกดหยุดและกดรีเซตเข็มก่อน นอกจากนี้ยังทำงานด้วยความถี่สูงถึง 5 เฮิรตซ์ หรือ 36,000 ครั้ง/ชั่วโมง ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำให้กับการบอกเวลา ส่วนจักรกลอกก็เป็นแบบควบคุมแรงเฉื่อย และใช้สายใยจักรกลอกที่ทำจากซิลิกอนซึ่งมีน้ำหนักเบา ทนทาน และปลอดผลกระทบจากแม่เหล็ก และช่วยส่งเสริมในเรื่องของความแม่นยำได้ด้วย โดยจุดแตกต่างระหว่างกลไกที่ใช้กับ 2 เอดิชั่นนี้ก็คือ แบบตัวเรือนไทเทเนียมจะใช้โรเตอร์สีเทา ขณะที่แบบตัวเรือนทองชาด 18K จะได้โรเตอร์สีทองในเฉดที่เข้ากับตัวเรือน