UN HEADER 23
UN HEADER 23
Home Articles BLANCPAIN VILLERET TRADITIONAL CHINESE CALENDAR YEAR OF RABBIT - ปฏิทินจีนประจำปีกระต่าย

BLANCPAIN VILLERET TRADITIONAL CHINESE CALENDAR YEAR OF RABBIT – ปฏิทินจีนประจำปีกระต่าย

by: ‘Mr.Big’

 

Blancpain (บลองแปง) เปิดตัวซีรีย์เรือนเวลาที่ผสมผสานปฏิทินแบบจีนให้มาปรากฏเป็นฟังก์ชันอยู่บนหน้าปัด พร้อมกับผูกเรื่องราวเข้ากับสัญลักษณ์ทางนักษัตรมาตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งก็ได้เปิดหัวซีรีย์ด้วยสัญลักษณ์แห่งนักษัตรมังกรเป็นเรือนแรกในซีรีย์นี้ หลังจากนั้นเป็นประจำทุกปีก็ได้นำสัญลักษณ์นักษัตรประจำปีมาสร้างสรรค์พร้อมกับความพิเศษของฟังก์ชันปฏิทินจีนออกมาทุกๆ ช่วงสิ้นปี และในปี 2023 นี้ ก็ถือเป็นปีที่ 12 แล้ว สำหรับการนำเสนอซีรีย์นี้ ซึ่งนั่นหมายถึงว่านี่จะเป็นเรือนครบรอบ 12 นักษัตร หรือนักษัตรสุดท้ายของการสร้างสรรค์ในนาม Blancpain และนี่ก็คือ Villeret Traditional Chinese Calendar Year of Rabbit (วิลเญอเรต์ เทรดิชั่นแนล ไชนีส กาเลนดาร์ เยียร์ ออฟ แรบบิท)

MITSUBISHI

 

ตามการคำนวนของปฏิทินจีน ศักราชใหม่ในนักษัตรปีกระต่าย หรือปีเถาะ จะเริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2023 และตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ของชาวจีน เชื่อว่าเป็นปีกระต่ายธาตุน้ำ อันเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุที่ยืนยาว ความสุขสงบ และความเจริญรุ่งเรืองในศิลปะวัฒนธรรม เรือนเวลารุ่นนี้ยังคงดีไซน์โดยรวมเอาไว้เหมือนรุ่นที่ผ่านมาแทบทุกประการ นั่นคือตัวเรือนที่ผลิตจากแพลทินัม 2 เลเยอร์ ขนาด 45.0 มิลลิเมตร หนา 15.0 มิลลิเมตร และมีความกว้างระหว่างขาสาย 23.0 มิลลิเมตร พร้อมขัดผิวมันสะท้อนแสงเป็นประกาย ยอดเม็ดมะยมทรงหมอนปักเข็มเซาะร่อง ประดับด้วยทับทิมสีแดงเจียระไนทรงหลังเบี้ย กรุหน้าปัดและฝาหลังด้วยคริสตัลแซพไฟร์ที่เคลือบด้วยสารกันแสงสะท้อน และกันน้ำได้ 30 เมตร

 

พื้นหน้าปัดได้รับการเคลือบสีลงยาด้วยเทคนิค ‘Grand Feu’ (กรองด์ เฟอ) เป็นสีขาวขึ้นประกาย ตกแต่งด้วยตัวเลขบอกเวลาแบบโรมันที่ผลิตขึ้นจากทองขาว 18K และตัวเลขแสดงวันที่สากลแบบอารบิก ชี้บอกด้วยเข็มคดสีน้ำเงินอันเป็นเอกลักษณ์ หน้าปัดย่อยทั้ง 3 วง นำเสนอความพิเศษของฟังก์ชันปฏิทินจีนอันซับซ้อนด้วยอักษรจีนทั้งหมด โดยบอกเวลาแบบ ‘Double-hours’ (ดับเบิลอาวร์ส) หรือที่เรียกว่า ‘ชั่วยาม’ ภายในวงหน้าปัดย่อยที่ 12 นาฬิกา ด้วยอักษรจีนที่บ่งบอกความหมายถึงนักกษัตรทั้ง 12 ซึ่งในแต่ละชั่วยามจะกินระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลา 23.00-0.59 น. ซึ่งเป็นเวลาของปีชวด จากนั้นจึงนับไปช่องละ 2 ชั่วโมง โดยอ่านเรียงตามลำดับได้ว่า ‘จื้อ’ ‘ทิ่ว’ ‘อิ๊ง’ ‘เบ้า’ ‘ซิ้ง’ ‘จี๋’ ‘โง่ว’ ‘บี่’ ‘ซิง’ ‘อิ้ว’ ‘สุก’ และ ‘ไท’ ซึ่งหมายถึงปีกุนอันเป็นชั่วยามสุดท้ายของวัน หรือคือช่วงเวลาตั้งแต่ 21.00-22.59 น. นั่นเอง

 

นอกจากนี้ยังสามารถแสดงฟังก์ชัน ‘ต้นฟ้า’ หรือระบบการนับลำดับที่ 1-10 ของจีนโบราณ เพื่อใช้นับวันตามแบบฉบับของจีน บนหน้าปัดย่อยตำแหน่ง 3 นาฬิกา กำกับควบคู่ไปกับธาตุทั้ง 5 ของจีน ได้แก่ ไม้ ไฟ ดิน ทอง และน้ำ ตกแต่งด้วยสัญลักษณ์หยิน-หยางบริเวณกึ่งกลาง ในขณะที่หน้าปัดย่อยตำแหน่ง 6 นาฬิกา แสดงอักษรจีนที่หมายถึงลำดับทั้ง 12 ในรอบปี หรือฟังก์ชัน ‘กิ่งดิน’ อันเป็นระบบการนับเดือนแบบโบราณของจีน ซึ่งใช้ควบคู่กับฟังก์ชัน ‘ต้นฟ้า’ ที่กล่าวมาข้างต้น จึงเกิดเป็นการนับวันสัมพัทธ์แบบ ‘ต้นฟ้า-กิ่งดิน’ อย่างที่ปรากฏอยู่ในปฏิทินจีนกระดาษทั่วไป โดยมีช่องวงกลมระบุปีอธิกสุรทิน ซึ่งจะมีความแตกต่างไปจากปีอธิกสุรทินแบบสากล โดยปฏิทินจีนจะมีการนับจำนวนวันในแต่ละปีไม่เท่ากับปฏิทินแบบสุริยคติ เนื่องจากเป็นการนับแบบจันทรคติ ดังนั้นในแต่ละปีจึงอาจมีจำนวนวันที่แตกต่างกันไป เช่น 353, 354 หรือ 355 วัน โดยขึ้นอยู่กับว่าปีนั้นเป็นปี ‘ปกติวาร’ หรือปี ‘อธิกวาร’ นอกจากนั้นปฏิทินจีนทางจันทรคติจะเพิ่มเดือนพิเศษที่เรียกว่า ‘เดือนอธิกมาส’ ซึ่งเป็นปีที่มี 13 เดือน หรือมีเดือน 8 จำนวน 2 ครั้ง ซึ่งปีอธิกมาสจะเกิดขึ้น 1 ครั้ง ในรอบประมาณ 5 ปี ซึ่งทาง Blancpain ก็สามารถคิดค้นโมดูลที่แก้สมการในการคำนวณรอบปีที่มีเดือนอธิกมาสได้สำเร็จ และติดตั้งร่วมอยู่ในกลไกของนาฬิกาคอลเลกชั่นนี้ นำเสนอผ่านช่องวงกลมซึ่งสามารถระบุปีที่มีอธิกมาสด้วยการเปลี่ยนสีภายในช่องหน้าต่างเป็นสีแดง นอกจากนั้นยังสามารถระบุปีนักษัตรผ่านสัญลักษณ์สัตว์ประจำแต่ละนักษัตรภายในช่องหน้าต่างที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา

 

ความสามารถของปฏิทินจีนทั้งหมดนี้ ถูกนำเสนอควบคู่ไปกับการแสดงเวลาแบบ 2 เข็ม เสริมด้วยฟังก์ชันแสดงข้างขึ้น-ข้างแรมด้วยจานดิสก์ที่ตกแต่งเป็นรูปดวงดาวและพระจันทร์ยิ้มผ่านช่องหน้าต่างครึ่งวงกลมบนตำแหน่ง 6 นาฬิกา ควบคุมการทำงานด้วยกลไก ‘In-house’ ออโตเมติก Cal.3638 ที่ผ่านการคิดค้นและพัฒนาเป็นเวลาถึง 5 ปีเต็ม โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32.0 มิลลิเมตร หนา 8.3 มิลลิเมตร ประกอบด้วยจำนวนชิ้นส่วนรวม 464 ชิ้น และทับทิม 39 ชิ้น ติดตั้งสายใยจักรกลอกซิลิกอน จึงปลอดผลกระทบที่อาจเกิดจากสนามแม่เหล็ก มีความถี่การทำงาน 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง สามารถสำรองพลังงานได้นานถึง 7 วัน พร้อมระบบการปรับตั้งค่าแบบ ‘Under-lug’ (อันเดอร์ลัก) ซึ่งติดตั้งอยู่ด้านหลังตัวเรือน ช่วยให้สามาถปรับตั้งค่าปฏิทินได้อย่างง่ายดายด้วยปลายนิ้ว ขึ้นลานผ่านโรเตอร์ทองขาวที่ประดับด้วยทับทิม โดยในรุ่นนี้ได้รับการแกะสลักเป็นรูปกระต่ายคู่อันเป็นสัญลักษณ์ประจำปีเถาะ สามารถชื่นชมความพิเศษได้ทางฝาหลังคริสตัลแซพไฟร์ ประกอบกับสายหนังจระเข้ โดยนำเสนอให้เป็นเจ้าของกันเพียง 50 เรือน เช่นเดียวกับรุ่นที่ผ่านๆ มา และเปิดราคาอยู่ที่ 89,360 ยูโร หรือราวๆ 3.3 ล้านบาท

SEIKO JUNE 23 CONTENT RGT