by: ‘TomyTom’
นาฬิกาที่ถูกจับจ้องและรอชมกันมากที่สุดของเดือนกันยายน 2023 นี้ แน่นอนว่าย่อมไม่มีสิ่งใดเกินผลผลิตแห่งความร่วมมือระหว่าง 2 แบรนด์ ในกลุ่มบริษัทนาฬิกายักษ์ใหญ่ ‘Swatch Group’ (สวอทช์ กรุ๊ป) ซึ่งหนนี้เป็นการผสานรวมคุณลักษณ์แห่งนาฬิกาแฟชั่นแบรนด์ Swatch (สวอทช์) เข้ากับนาฬิกาดำน้ำตระกูลสุดเก่าแก่ของโลก Fifty Fathoms (ฟิฟตี ฟาธอมส์) แห่งแบรนด์ชั้นเลิศ Blancpain (บลองแปง) เป็นแน่แท้ และนี่คือ Blancpain x Swatch Bioceramic Scuba Fifty Fathoms Collection (บลองแปง ครอส สวอทช์ ไบโอเซรามิก สกูบา ฟิฟตี ฟาธอมส์ คอลเลกชั่น) ที่เปิดตัวออกมาพร้อมกันชุดแรก 5 เวอร์ชั่น ด้วยกัน
(ซ้าย) Blancpain x Swatch Bioceramic Scuba Fifty Fathoms ‘Indian Ocean’ เทียบกับ (ขวา) Blancpain Fifty Fathoms เจเนอเรชั่นปัจจุบัน
เริ่มแนะนำจากรูปลักษณ์หน้าตากันก่อนเลย เพราะน่าประทับใจด้วยการนำดีไซน์ที่คุ้นเคยของนาฬิกาดำน้ำยอดนิยม Fifty Fathoms มากลายร่างสู่ตัวเรือนและขอบตัวเรือนชนิดหมุนได้ทิศทางเดียว ตลอดจนเม็ดมะยม วงฝาหลัง และตัวล็อกสายกับห่วงรัดสายที่ทำขึ้นจาก ‘Bioceramic’ วัสดุเซรามิกชีวภาพอันเลื่องชื่อของ Swatch ได้อย่างเนียนตา ทั้งยังเลือกเอาสัดส่วนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 42.0 มิลลิเมตร ของ Fifty Fathoms 70th Anniversary Limited Series (ฟิฟตี ฟาธอมส์ เดอะ เซเวนตีธ์ แอนนิเวอร์ซารี ลิมิเต็ด ซีรีส์) ผลิตจำนวนจำกัดรุ่นพิเศษฉลอง 70 ปี แห่งการกำเนิด ซึ่งเปิดตัวออกมาเมื่อต้นปี 2023 อันเป็นขนาดตัวเรือนไซส์ดั้งเดิมของบรรพบุรุษ Fifty Fathoms ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1953 มาใช้ แทนที่จะเป็นขนาด 45.0 มิลลิเมตร ของรุ่นมาตรฐาน หรือ 40.0 มิลลิเมตร ของรุ่นผลิตจำนวนจำกัดเอดิชั่นอื่นๆ โดยขนาดเป๊ะๆ ของตัวเรือน Swatch x Blancpain รุ่นนี้วัดได้ที่ 42.3 มิลลิเมตร กับความยาว 48.0 มิลลิเมตร และความหนา 14.4 มิลลิเมตร ซึ่งฝั่งซ้ายข้างตัวเรือน แทนที่จะสลักชื่อ Blancpain ตามธรรมเนียมของ Fifty Fathoms กลับกลายเป็นปรากฏชื่อ Swatch เพื่อบอกว่านี่คือ Swatch มิใช่ Blancpain แต่ที่ยอดเม็ดมะยมจะสลักนูนด้วยตราสัญลักษณ์ย่อของทั้ง 2 แบรนด์ สำหรับการกันน้ำถูกระบุไว้ที่ 91 เมตร ซึ่งเป็นระดับราว 50 ฟาธอมส์ (91.44 เมตร) ตามชื่อนาฬิกานั่นเอง
ส่วนอีกลักษณะเด่นอย่างวงแหวนคริสตัลแซพไฟร์ผิวโค้งที่ผนึกอยู่บนขอบตัวเรือนเพื่อปกป้องสเกลนาทีสำหรับใช้ในการดำน้ำนั้น มิใช่แซพไฟร์เหมือนของ Fifty Fathoms แต่กลับเป็นวัสดุชีวภาพที่มีความใสดุจกระจก เคลือบด้วยสารกันการเกิดริ้วรอย อันเป็นวัสดุชนิดเดียวกับกระจกหน้าปัดทรงกล่องขอบมน สำหรับสเกลที่อยู่ภายใต้วงแหวนชิ้นนี้ถอดรูปแบบเส้นขีดเหลี่ยมชัดในหลัก 5 และขีดย่อยจาก 1-15 นาที ฟอนต์เลขอารบิกที่ 15, 30 และ 45 นาที และสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดที่ 12 นาฬิกา เคลือบสารเรืองแสง ร่วมกับพื้นสีเข้มของ Fifty Fathoms มาเต็มๆ รูปทรงดาบของเข็มชั่วโมงกับเข็มนาทีและเข็มวินาทีทรงลูกศรก็นำมาจาก Fifty Fathoms เจเนอเรชั่นปัจจุบัน ในเรื่องของสายนาฬิกาก็เป็นแบบ ‘NATO’ (นาโต) ที่ทำจากวัสดุที่รีไซเคิลจากอวนจับปลาที่เก็บขึ้นจากท้องทะเล ซึ่งเป็นพันธกิจที่ Blancpain ตั้งใจกระทำเพื่อรณรงค์เรื่องความยั่งยืนของธรรมชาติทางทะเล เช่นเดียวกับ Fifty Fathoms รุ่น 70 ปี แต่มีดีไซน์ที่ต่างออกไปด้วยลายทอแนวทแยงร่วมกับคาดแนวเส้นต่างสีไว้ 3 เส้น
5 เวอร์ชั่นของ Swatch x Blancpain Bioceramic Scuba Fifty Fathoms นอกจากจะแตกต่างกันที่สีสันที่ใช้กับส่วนต่างๆ แล้ว ยังมีการจับคู่กับดีไซน์หน้าปัดและภาพพิมพ์บนโรเตอร์ที่ต่างกันด้วย โดยการจำแนกเวอร์ชั่นจะแยกออกเป็น 5 มหาสมุทร คือ ‘Arctic Ocean’ (อาร์ติก โอเชียน) มหาสมุทรอาร์กติก ‘Antarctic Ocean’ (แอนตาร์กติก โอเชียน) มหาสมุทรแอนตาร์กติก ‘Pacific Ocean’ (แปซิฟิก โอเชียน) มหาสมุทรแปซิฟิก ‘Atlantic Ocean’ (แอตแลนติก โอเชียน) มหาสมุทรแอตแลนติก และ ‘Indian Ocean’ (อินเดียน โอเชียน) มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งหน้าปัดของทุกเวอร์ชั่นจะเป็นแบบผิวเม็ดหยาบไล่เฉดจากสว่างกลางสู่มืดเข้มรอบขอบริม โดยเวอร์ชั่น ‘Arctic’ และ ‘Antarctic’ จะมากับดีไซน์หน้าปัดแบบวินเทจ ซึ่งใช้หลักชั่วโมงทรงเรขาคณิตขนาดไม่ใหญ่นัก ชื่อแบรนด์ Blancpain แบบวินเทจ ต่อด้วยชื่อรุ่นแล้วค่อย ‘x Swatch’ และมีข้อความ ‘Scuba’ ระบุไว้ แต่ไม่มีหน้าต่างวันที่ ขณะที่อีก 3 เวอร์ชั่นมากับดีไซน์หน้าปัด Fifty Fathoms เจเนอเรชั่นปัจจุบัน ซึ่งมีหลักชั่วโมงเป็นเลขอารบิกร่วมกับทรงสามเหลี่ยม ชื่อแบรนด์แบบปัจจุบันต่อด้วย ‘x Swatch’ และเจาะหน้าต่างสี่เหลี่ยมสำหรับบอกวันที่ไว้ ณ 4-5 นาฬิกา แต่บนเข็มทั้ง 3 และหลักชั่วโมงทั้ง 12 ก็เคลือบสารเรืองแสง ‘Super-LumiNova’ (ซูเปอร์ลูมิโนวา) เกรดเอ มาให้เช่นเดียวกัน โดยที่สารเรืองแสงของ 2 เวอร์ชั่นสไตล์วินเทจ จะเป็นสีขาวอมเขียวจางๆ ส่วนอีก 3 เวอร์ชั่นสไตล์ร่วมสมัย จะมีสีที่ขาวกว่า โดยบนหน้าปัดจะพิมพ์ระบุชื่อ ‘Fifty Fathoms’ แบบตัวเขียนสไตล์วินเทจดั้งเดิม ข้อความ ‘Scuba’ และระดับการกันน้ำ ‘91m/300ft’ ซึ่งเท่ากับ 50 ฟาธอมส์ ไว้ด้วย
ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ Swatch ใส่กลไกอัตโนมัติ ‘In-house’ (อินเฮาส์) ตระกูล ‘Sistem51’ (ซิสเต็มฟิฟตีวัน) ที่มีจำนวนชิ้นส่วนรวมเพียง 51 ชิ้น และจำนวนทับทิม 19 เม็ด ความถี่การทำงาน 21,600 ครั้ง/ชั่วโมง ของตนไว้ในนาฬิกาซีรีย์นี้ นัยว่าเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของ Blancpain ที่ผู้บริหารแบรนด์ได้ให้ไว้ตั้งแต่ฟื้นคืนชีพมาอีกคราว่า จะไม่มีนาฬิกา Blancpain ที่ใช้เครื่องควอตซ์อย่างเด็ดขาด กลไก ‘Sistem51’ นี้ เป็นคาลิเบรอแบบแรกและแบบเดียวในโลกที่ไม่มีตัวเรกูเลเตอร์สำหรับควบคุมอัตราเร็ว-ช้าของการทำงาน โดยอัตราซึ่งหมายถึงระดับความเที่ยงตรงนั้นจะถูกตั้งค่าด้วยเทคโนโลยีเลเซอร์ให้มีระดับ -5/+15 วินาที/วัน มาตั้งแต่ในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ตัวกลไกและตลับลานยังให้พลังงานสำรองได้ยาวนานสูงสุดถึง 90 ชั่วโมง และยังใช้สายใยจักรกลอก ‘Nivachron’ (นิวาครอง) ที่ต้านสนามแม่เหล็กได้ดีอีกด้วย ทั้งยังยึดชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันด้วยสกรูกลางเพียงชิ้นเดียว
ความพิเศษอีกประการสำหรับกลไกที่บรรจุอยู่ในนาฬิกาซีรีย์นี้ก็คือ การพิมพ์แบบดิจิตอลเป็นลักษณะและสีสันราวกับมหาสมุทรไว้อย่างสวยงามบนสะพานจักรด้วยรูปแบบและสีที่ต่างกันไปในแต่ละเวอร์ชั่น ตามภูมิศาสตร์ของมหาสมุทรแต่ละแห่ง และการใช้โรเตอร์แบบแผ่นใสเต็มบานที่ปรากฏภาพพิมพ์ดิจิตอลสีเป็นรูปทากทะเล สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกสายพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในแต่ละมหาสมุทรตามเวอร์ชั่นของตัวนาฬิกา ร่วมกับข้อความ ‘Scuba Fifty Fathoms’ สีขาว และชื่อเวอร์ชั่นมหาสมุทรของตัวนาฬิกาในสีเดียวกับตัวเรือน โดยมีตลับกึ่งกลางเคลือบด้วยสีทองเข้ากับสีของเฟืองและจักร ส่วนที่วงฝาหลังรอบแผ่นใสก็มีข้อความสลักอย่างเก๋ไก๋เกี่ยวกับการดำน้ำว่า ‘Passion for Diving’ (แพสชัน ฟอร์ ไดวิง – ความหลงใหลในการดำน้ำ) ‘Licence to Explore’ (ไลเซนซ์ ทู เอ็กซ์พลอ – สิทธิให้สำรวจ) ‘Ocean Breath’ (โอเชียน เบรธ – ลมหายใจแห่งมหาสมุทร) ‘Protect What You Love’ (โพรเท็กต์ ว็อต ยู เลิฟ – ปกป้องสิ่งที่คุณรัก) และ ‘Immerse Yourself’ (อิมเมอร์ส ยัวร์เซลฟ์ – ดื่มด่ำด้วยตัวคุณเอง) ทั้งยังระบุระดับการกันน้ำที่ ‘91m/300ft’ เอาไว้ด้วย
เวอร์ชั่น ‘Arctic Ocean’ มหาสมุทรที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง และเป็นมหาสมุทรที่เล็กที่สุดในโลก มากับโทนสีเบจของตัวเรือน ขอบตัวเรือน เม็ดมะยม และตัวล็อกสาย ร่วมกับหน้าปัดสีเบจดีไซน์วินเทจที่มีหลักชั่วโมงกับเข็มนาทีเป็นสีส้มอิฐ ร่วมกับเข็มวินาที สเกล และข้อความสีขาว แต้มปลายเข็มวินาทีเป็นสีส้มอิฐ และที่เหนือตำแหน่ง 6 นาฬิกา มีการพิมพ์ภาพวงกลม สัญลักษณ์ ‘No Radiations’ (โน เรดิเอชั่นส์) สีส้มสลับสีส้มอิฐ และสีขาว บ่งบอกสถานะการปลอดรังสีเรเดียมของนาฬิกาที่เรียกกันว่า ‘No-Rad’ (โนแรด) อย่างที่ปรากฏบนบางเรือนของ Fifty Fathoms ในอดีต ยุคทศวรรษ 1960s และเอดิชั่นผลิตจำกัด ‘No-Rad’ ที่ทำขึ้นมาภายหลัง ส่วนพื้นวงขอบตัวเรือนเป็นสีส้มอิฐ จับคู่กับสายสีส้มคาดแถบสีเบจ ขนาบด้วยแถบสีขาว ขณะที่ภาพทากทะเลบนโรเตอร์เป็นสายพันธุ์ ‘Dendronotus Frondosus’ (เดนโดรโนตุส ฟรอนโดซุส) โทนสีส้ม และพิมพ์ภาพมหาสมุทรอาร์กติกบนสะพานจักร
เวอร์ชั่น ‘Antarctic Ocean’ มหาสมุทรที่มีสภาพแวดล้อมแสนทรหด มากับโทนสีขาวดุจน้ำแข็ง ทั้งตัวเรือน ขอบตัวเรือน เม็ดมะยม ตัวล็อกสาย พร้อมหน้าปัดสีขาวเทา ร่วมกับหลักชั่วโมง เข็ม และสเกลกับข้อความสีน้ำเงินเข้ม แต้มปลายเข็มวินาทีเป็นสีขาว และมีหน้าปัดวัดความชื้นทรงกลมสีครึ่งขาวครึ่งเทา พร้อมข้อความ ‘Scuba’ สีขาวเหนือตำแหน่ง 6 นาฬิกา ซึ่งครึ่งวงกลมฝั่งสีขาวจะเปลี่ยนสีเมื่อมีความชื้นเล็ดรอดเข้าไปภายในตัวเรือน อันเป็นคุณลักษณะของหน้าปัดเวอร์ชั่น ‘Mil-Spec’ (มิลสเปก) สเปกสำหรับกองทัพที่ Blancpain สร้างให้กับกองทัพในสมัยก่อน และเอดิชั่นผลิตจำกัด ‘Mil-Spec’ ที่ทำขึ้นมาในภายหลัง ส่วนพื้นวงขอบตัวเรือนเป็นสีเทา จับคู่กับสายสีเทาคาดแถบสีน้ำเงิน ขนาบด้วยแถบสีขาว ภาพทากทะเลบนโรเตอร์เป็นสายพันธุ์ ‘Tritoniella Belli’ (ไทรโทเนียลลา เบลลี) และพิมพ์ภาพมหาสมุทรแอนตาร์กติกบนสะพานจักร
เวอร์ชั่น ‘Pacific Ocean’ มหาสมุทรที่ลึกและใหญ่ที่สุด มากับโทนสีเหลืองของตัวเรือน ขอบตัวเรือน เม็ดมะยม และตัวล็อกสาย ร่วมด้วยหน้าปัดสีขาวไล่เฉดดำชัด หลักชั่วโมง เข็ม และสเกลกับข้อความและเลขวันที่สีดำ จานวันที่สีขาว แต้มสีเหลืองที่ปลายเข็มวินาที และมีข้อความระบุระดับกันน้ำเป็นสีเหลือง พื้นวงขอบตัวเรือนสีดำ จับคู่มากับสายสีดำคาดแถบสีเหลือง ขนาบด้วยแถบสีขาว สำหรับทากทะเลบนโรเตอร์เป็นสายพันธุ์ ‘Chromodoris Kuiteri’ (โครโมโดริส คุอิเทริ) และพิมพ์ภาพมหาสมุทรแปซิฟิกบนสะพานจักร
เวอร์ชั่น ‘Atlantic Ocean’ มหาสมุทรที่มีพายุโหมกระหน่ำและเกลียวคลื่นรุนแรง มากับโทนสีน้ำเงินบนตัวเรือน ขอบตัวเรือน เม็ดมะยม ตัวล็อกสาย ไปจนถึงหน้าปัด และใช้เข็ม หลักชั่วโมง เลขวันที่ สเกล และข้อความเป็นสีขาว แต้มสีกรมท่าที่ปลายเข็มวินาที และใช้สีกรมท่ากับข้อความระบุระดับกันน้ำและจานวันที่ ร่วมกับพื้นวงขอบตัวเรือนสีกรมท่า และสายสีกรมท่าคาดแถบสีขาวขนาบด้วยแถบสีฟ้า สำหรับภาพทากทะเลบนโรเตอร์เป็นสายพันธุ์ ‘Glaucus Atlanticus’ (กลอคุส แอตแลนติคุส) และพิมพ์ภาพมหาสมุทรแอตแลนติกบนสะพานจักร
เวอร์ชั่น ‘Indian Ocean’ มหาสมุทรที่ระยิบระยับงดงาม มากับโทนสีเขียวบนตัวเรือน ขอบตัวเรือน เม็ดมะยม ตัวล็อกสาย และหน้าปัด ไปจนถึงจานวันที่ ร่วมด้วยเข็มชั่วโมง เข็มนาที หลักชั่วโมง และข้อความสีดำ ตัดด้วยสีส้มของเข็มวินาทีแต้มปลายดำ และข้อความบอกระดับการกันน้ำ และใช้เลขวันที่กับข้อความ ‘Swiss Made’ (สวิส เมด) เป็นสีขาว กับสเกลสีขาวและสีส้ม จับคู่กับสายสีดำคาดแถบสีส้มขนาบด้วยแถบสีเขียว ภาพทากทะเลบนโรเตอร์เป็นสายพันธุ์ ‘Nembrotha Kubaryana’ (เนมบรอธา คูบาร์ยานา) และพิมพ์ภาพมหาสมุทรอินเดียบนสะพานจักร
นาฬิกา Blancpain x Swatch Bioceramic Scuba Fifty Fathoms ทั้ง 5 เวอร์ชั่น นี้เป็นงานผลิตแบบไม่จำกัดจำนวน และมาพร้อมกับกล่องบรรจุที่ออกแบบพิเศษเป็นการเฉพาะ โดยเริ่มจำหน่ายที่ร้าน Swatch (บางแห่ง) ทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2023 เป็นต้นไป แต่จำกัดจำนวนการซื้อไว้ 1 เรือนต่อคนต่อวันต่อสาขา เช่นเดียวกับ ‘MoonSwatch’ (มูนสวอทช์) สนนราคาของทุกเวอร์ชั่นกำหนดไว้เท่ากันที่ 14,700 บาท