UN HEADER 23
UN HEADER 23
Home Articles BOVET 19THIRTY BLUE METEORITE - อุกกาบาต 'Gibeon' สีน้ำเงินงามในร่างไทเทเนียม

BOVET 19THIRTY BLUE METEORITE – อุกกาบาต ‘Gibeon’ สีน้ำเงินงามในร่างไทเทเนียม

by: ‘TomyTom’

 

วัตถุจากนอกโลกอย่าง ‘Meteorite’ (เมทีโอไรต์) หรือ ‘อุกกาบาต’ ที่หลุดออกจากวงโคจรในอวกาศแล้วดิ่งตกลงมายังโลกในฐานะดาวตก เป็นสิ่งพิเศษอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ผลิตนาฬิกาบางรายนำมาใช้เป็นหน้าปัดนาฬิการุ่นพิเศษของตนซึ่งผลิตออกมาด้วยจำนวนไม่มากนัก เนื่องด้วยอุกกาบาตมิใช่สิ่งที่มีอยู่มากมายนักบนโลกใบนี้ จึงเป็นของหายาก และแน่นอนว่าย่อมต้องมีราคาสูง บัดนี้ Bovet (โบเวต์) แบรนด์นาฬิกาแสนเก่าแก่ ได้นำวัตถุนี้มาสร้างหน้าปัดกันอีกครั้งโดยเลือกทำเป็นสีน้ำเงินแล้วติดตั้งมาในรุ่น 19Thirty (ไนน์ทีนเธอร์ตี) และนำเสนอออกมาในฐานะ ‘Special Edition’ (สเปเชียล เอดิชั่น) นาฬิกาพิเศษเอดิชั่นใหม่ที่เรียกกันง่ายๆ ชัดๆ ว่า 19Thirty Blue Meteorite (ไนน์ทีนเธอร์ตี บลู เมทีโอไรต์) โดยมากับตัวเรือนไทเทเนียมเกรด 5 ผิวทราย หลังจากที่เมื่อปี 2022 ได้ออกเอดิชั่นที่มากับตัวเรือนสเตนเลสสตีลขัดเงาในฐานะ ‘Limited Series’ (ลิมิเต็ด ซีรีส์) ที่จำกัดจำนวนการผลิตไว้เพียงแค่ 60 เรือน กันมาครั้งหนึ่งแล้ว

MITSUBISHI

 

หน้าปัดของนาฬิการุ่นนี้ฝานมาจากอุกกาบาต ‘Gibeon’ (กีเบียน) ที่ประกอบด้วยเหล็ก นิกเกิล และโคบอลต์ มีอายุเก่าแก่ถึงราว 4.5 พันล้านปี ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 1836 ที่ทะเลทรายนามิเบียในแอฟริกา ใกล้กับหมู่บ้านกีเบียน ซึ่งนำมาตั้งเป็นชื่อเรียกอุกกาบาตลูกนี้ โดยอุกกาบาตลูกนี้จัดเป็นอุกกาบาตเหล็กที่มีความเสถียรที่สุด ด้วยโครงสร้างที่ชัดเจน อีกทั้งยังไม่เป็นพิษและไม่เป็นแม่เหล็ก จึงนำมาใช้สร้างหน้าปัดได้อย่างสบายใจ เพราะไม่เป็นอันตรายต่อผู้สวมใส่หรือกระทั่งกลไกของนาฬิกา

 

Bovet ใช้แผ่นอุกกาบาต ‘Gibeon’ ที่ฝานแล่ออกมาเป็นพื้นหลังเต็มๆ แก่การแสดงผลผ่านหน้าปัดต่างขนาด 2 วง จัดวางเหลื่อมกันในแนวดิ่ง ซึ่งวงขนาดใหญ่ด้านบนจะใช้ในการบอกเวลาด้วยเข็มชั่วโมงกับเข็มนาที ส่วนวงขนาดเล็กด้านล่างจะใช้สำหรับแสดงวินาที ทั้งยังมีเข็มบอกพลังงานสำรองคงเหลือติดตั้งมาเหนือหลักชั่วโมงที่ 4 นาฬิกาเล็กน้อย กวาดชี้ไปยังมาตรโค้งทางฝั่งขวา สำหรับสเกล ตัวเลข และข้อความ ทั้งหมดบนหน้าปัดจะประทับพิมพ์อย่างเรียบง่ายด้วยสีขาว และใช้เข็มทั้งหมดเป็นสีเงิน โดยมีเข็มชั่วโมงเป็นทรงลูกแพร์แสนคลาสสิก ร่วมกับเข็มนาทีดีไซน์สละสลวย เพื่อมอบความโดดเด่นทั้งหมดให้กับลายหินที่เรียกกันว่ารูปแบบโครงสร้าง ‘Widmanstätten’ (วิดแมนสตาตเตน) ของอุกกาบาต ซึ่งจะมองเห็นได้ก็ต่อเมื่อนำชิ้นที่ฝานมาจากอุกกาบาต ‘Gibeon’ ไปกัดด้วยกรดไนตริก ลายเส้นเหล่านี้เป็นผลมาจากการละลายและการเย็นตัวที่เกิดขึ้นในอวกาศเป็นเวลาหลายพันล้านปี บนผิวสีน้ำเงินโปร่งใสที่เคลือบด้วยเทคนิค PVD เพื่อให้แลเห็นลวดลายของอุกกาบาตอย่างชัดเจน และแน่นอนว่าลายของหน้าปัดแต่ละชิ้นย่อมแตกต่างกัน จึงเรียกได้ว่านาฬิการุ่นนี้แต่ละเรือนมีความเป็นหนึ่งเดียวในโลก โดยแผ่นหน้าปัดจะถูกยึดเข้ากับแท่นกลไกด้วยสกรูสีน้ำเงิน 4 ชิ้น รองด้วยแท่นฐานสีเงิน

 

การขับเคลื่อนเป็นหน้าที่ของกลไก ‘In-house’ (อินเฮาส์) ไขลาน ความถี่การทำงาน 21,600 ครั้ง/ชั่วโมง จำนวนทับทิม 35 เม็ด Cal.15BM04 ที่ใช้ตลับลานเพียงชุดเดียว แต่ใหญ่พอที่จะมอบพลังงานสำรองได้นานถึง 7 วัน ซึ่งกลไกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างถึง 35.53 มิลลิเมตร อย่างกับกลไกสำหรับนาฬิกาพกชุดนี้ ได้รับการตกแต่งทุกชิ้นส่วนอย่างประณีตพิถีพิถัน เช่นเดียวกับกลไกระดับความซับซ้อนสูงของ Bovet ทั้งลายก้นหอยแบบ ‘Perlage’ (เพอร์ลาจ) บนแท่นเครื่อง ลายแถบริ้วแบบเจนีวาในแนวโค้งบนสะพานจักร และการใช้สกรูสีน้ำเงิน ตลอดจนการสลักข้อความลงสีทอง แม้คาลิเบรอนี้จะเป็นกลไกบอกเวลาแบบพื้นฐานพร้อมฟังก์ชันบอกพลังงานสำรองเท่านั้น

 

กลไกคาลิเบรอนี้ถูกบรรจุไว้ในตัวเรือนขนาด 42.0 มิลลิเมตร แบบ ‘Fleurier’ (เฟลอริเยร์) อันเปี่ยมด้วยลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ด้วยรูปลักษณ์ที่คล้ายกับนาฬิกาพก โดยมีเม็ดมะยมทรงหัวหอมขนาดใหญ่อยู่ ณ ตำแหน่งร่วมกับห่วงขาตัวเรือนรูปแบบบานพับที่มีรูปทรงเว้าหลบเม็ดมะยม ทำให้ดูคล้ายลักษณะของโบ ทั้งหมดนี้ทำขึ้นจากไทเทเนียมเกรด 5 และตกแต่งพื้นผิวให้มีลักษณะด้านด้วยการพ่นทราย ผนึกกระจกหน้าปัดแซพไฟร์คริสตัล และใช้ฝาหลังเป็นไทเทเนียมเกรด 5 พ่นทราย แน่นอนว่าย่อมต้องกรุแซพไฟร์คริสตัลเพื่อให้ชื่นชมกลไกได้ถนัดตา โดยรวมความหนาทั้งหมดได้ 9.05 มิลลิเมตร การกันน้ำกระทำได้ 30 เมตร ส่วนบนยอดเม็ดมะยม และปลายของสลักขาตัวเรือน ก็ประดับไพลินทรงหลังเบี้ยสีน้ำเงินให้รับกับสีของหน้าปัด เช่นเดียวกับสายที่ใช้เป็นผ้า ‘Cordura’ (คอร์ดูรา) สีน้ำเงินที่ผนึกฝั่งด้านหลังด้วยแผ่นหนังสีดำ ล็อกด้วยหัวเข็มขัดไทเทเนียมพ่นทราย

 

อุกกาบาต ‘Gibeon’ ที่สามารถนำมาสร้างชิ้นงานได้นั้น นับวันจะยิ่งหายากขึ้น เพราะต้องนำมาจากชิ้นที่เคยถูกค้นพบในอดีตเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลนามิเบีย ได้ออกกฎให้ชิ้นที่ถูกค้นพบใหม่ทั้งหลายกลายเป็นสมบัติของชาติไปแล้ว ราคาจำหน่ายที่ Bovet ตั้งไว้สำหรับนาฬิกาเอดิชั่นพิเศษ 19Thirty Blue Meteorite ซึ่งไม่ได้จำกัดจำนวนการผลิตไว้เป็นตัวเลขชัดเจน แต่ก็บอกไม่ได้ว่าจะผลิตขึ้นมากี่เรือน และจะหยุดผลิตเมื่อไร อยู่ที่ 35,000 ฟรังก์สวิส หรือราว 1.34 ล้านบาท

SEIKO JUNE 23 CONTENT RGT