by: ‘Mr.Big’
นับตั้งแต่ปี 2013 ที่ Chopard (โชพาร์) เปิดตัวคอลเลกชั่นนาฬิกาต้อนรับนักษัตรใหม่ของแต่ละปีในซีรีย์ L.U.C Chinese Zodiac (แอลยูซี ไชนีส โซดิแอก) ซึ่งเป็นการนำนาฬิกาจากคอลเลกชั่น L.U.C XP (แอลยูซี เอ็กซ์พี) เรือนบางเฉียบมารังสรรค์ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละนักษัตรจีนบนพื้นหน้าปัด ภายใต้เทคนิคด้านงานศิลป์ชั้นสูงของแดนตะวันออกอย่าง ‘Maki-e’ (มากิเอะ) ซึ่งเป็นงานฝีมือในการสร้างลวดลายด้วยผงทอง ผสมผสานกับงานลงรักด้วยยางไม้ภายใต้เทคนิค ‘Urushi’ (อุรุชิ) ซึ่งคอลเลกชั่นดังกล่าวก็คงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ และในปี 2021 ซึ่งตรงกับปีฉลู Chopard จึงเปิดตัวนาฬิกา L.U.C XP Urushi Year of Ox (แอลยูซี เอ็กซ์พี อุรุชิ เยียร์ ออฟ อ็อกซ์) เพื่อเป็นการต้อนรับศักราชใหม่ที่ต้องดีกว่าปีที่ผ่านมา
ปฏิทินจันทรคติ ‘ปีฉลูทอง’ จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ซึ่งตรงกับวันตรุษจีน และสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม ปีถัดไป ธาตุทั้ง 5 ของวัวในจักรราศีของจีนเป็นธาตุดิน ชาวจีนเชื่อว่าวัวเป็นสัตว์ใจดีมีเมตตา สามารถทำให้แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ พืชผลดี อากาศดี ผู้คนมีชีวิตที่เปี่ยมสุข ‘ปีฉลูทอง’ จึงมีนัยว่าจะเป็นปีที่สงบสุขและสวยงามของผู้คนและธรรมชาติ และ Chopard ก็ได้นำเสนอเรือนเวลารุ่นพิเศษดังกล่าวในตัวเรือนทองกุหลาบ 18K ขนาด 39.5 มิลลิเมตร มีความหนาเพียง 6.8 มิลลิเมตร และกันน้ำได้ 30 เมตร
เบื้องหลังแผ่นคริสตัลแซพไฟร์ที่ปกป้องหน้าปัด ปรากฏลวดลายวิจิตรของวัวที่มีลักษณะคล้ายกับตัวจามรีซึ่งเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ของวัวที่มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาหิมาลัย กำลังเทียมเกวียนซึ่งตกแต่งในสไตล์ที่ชวนให้นึกถึงงานศิลปะแบบมองโกลและทิเบต ผ่านงานเคลือบชั้นสูงที่เรียกว่า ‘Urushi’ ซึ่งเป็นศิลปะงานเคลือบแบบโบราณด้วยแลคเกอร์ดิบที่สกัดจากเรซินและยางไม้ชนิดพิเศษที่เก็บได้เพียงปีละครั้งในปริมาณที่น้อยมาก และนำมาแปรรูปจนกลายเป็นแลคเกอร์ดิบที่มีความทนทานสูง ทั้งสามารถใช้เคลือบชั้นผิวได้บางมากๆ ด้วย
งานเคลือบดังกล่าวต้องใช้เทคนิคและงานฝีมือที่ละเอียดอ่อนยิ่ง เพื่อให้งานเคลือบออกมาสวยงาม แวววาว สะท้อนสีสันยามต้องแสงอาทิตย์ โดยงานศิลป์ที่ปรากฏอยู่บนหน้าปัดนาฬิกาเรือนนี้มาจากฝีมือของ Koizumi Sankyo (โคอิสุมิ ซันเคียว) ศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านงานเคลือบจาก ‘Yamada Heiando’ (ยามาดะ เฮอันโดะ) ร้านเครื่องเคลือบเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่มีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ปี 1919 ซึ่งเครื่องเคลือบจากร้านนี้ได้รับการยอมรับในระดับโลก และได้รับเลือกนำไปใช้ในพระราชวังอิมพีเรียลขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิด้วย
นอกจากนั้นภาพที่ปรากฏบนหน้าปัด ยังได้รับการรังสรรค์ภายใต้เทคนิคที่เรียกว่า ‘Maki-e’ ซึ่งเป็นงานฝีมือตกแต่งภาพด้วยผงทองและแผ่นทองคำ โดยจะถูกรังสรรค์ในระหว่างชั้นเคลือบ ผสมผสานกับงานประดับมุก และวาดสีด้วยความประณีตพิถีพิถัน เกิดเป็นภาพวัวเทียมเกวียนที่กำลังยืนยิ้มอยู่บนผืนนาที่อุดมสมบูรณ์ในค่ำคืนที่เต็มไปด้วยหมู่ดาวสีทอง ซึ่งความวิจิตรนี้แสดงคู่กับการแสดงเวลาแบบ 2 เข็ม ด้วยเข็มทองกุหลาบ 18K อย่างลงตัว
สำหรับการทำงาน เป็นหน้าที่ของ ‘In-house’ (อินเฮาส์) ออโตเมติก Cal.LUC 96.17-L ซึ่งมีความบางเป็นพิเศษเพียง 3.3 มิลลิเมตร ในขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตัวเครื่อง 27.4 มิลลิเมตร ติดตั้งทับทิมกันสึก 29 เม็ด อัตราความถี่ 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง พร้อมตลับลานคู่ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ภายใต้เทคโนโลยี ‘Twin’ (ทวิน) ของ Chopard ทำให้สามารถสำรองพลังงานได้นาน 65 ชั่วโมง แท่นเครื่องและสะพานจักรได้รับการขัดแต่งลวดลายแบบ ‘Côtes de Genève’ (โกตส์ เดอ เฌอแนฟ) สร้างพลังงานผ่าน ‘Micro-rotor’ (ไมโครโรเตอร์) ทอง 22K ฝาหลังกรุคริสตัลแซพไฟร์เพื่ออวดจักรกลภายใน ประกอบกับสายหนังจระเข้ที่ตัดเย็บด้วยมือ
จำกัดจำนวนการผลิตเอาไว้ที่ 88 เรือนเช่นเดียวกับในปีที่ผ่านๆ มา ภายใต้ความเชื่อที่ว่าเลข ‘8’ คือเลขมงคลของชาวจีน ส่วนราคาแปะป้ายเอาไว้ที่ 24,500 ยูโร หรือประมาณ 900,000 บาท