HOME HEADER
HOME HEADER
Home Articles CHRONOSWISS DELPHIS ORACLE - ฉลองปีที่ 40 ด้วยการกลับมาของ Delphis

CHRONOSWISS DELPHIS ORACLE – ฉลองปีที่ 40 ด้วยการกลับมาของ Delphis

by: ‘Mr.Big’

 

ในปี 1983 ท่ามกลางกระแส ‘ตื่นควอตซ์’ ที่เขย่าวงการนาฬิกาจักรกลจนมีผลให้หลายแบรนด์ต้องล้มหายตายจาก แต่กลับมีบุคคลหนึ่งนาม Gerd-Rüdiger Lang (เกิร์ด-รือดิเกอร์ ลังก์) นักประดิษฐเรือนเวลาชาวเยอรมันผู้มากด้วยทักษะและประสบการณ์ กล้ายืนหยัดขึ้นสู้กับกระแสดังกล่าว และได้ก่อตั้งแบรนด์ Chronoswiss (โครโนสวิส) ในฐานะแบรนด์นาฬิกาจักรกลสวิสเมดคุณภาพสูง โดยนาฬิกาเรือนแรกที่เขาผลิตเป็นนาฬิกาฟังก์ชันโครโนกราฟที่ร่วมด้วยการแสดงผลข้างขึ้น-ข้างแรม พร้อมฝาหลังที่เปลือยให้เห็นกลไกภายใน เพื่อให้เห็นเสน่ห์ความงามอันวิจิตรและความเป็นเลิศในชิ้นงานวิศวกรรมจักรกลที่ไม่สามารถหาได้จากนาฬิกาควอตซ์ ซึ่งสิ่งที่เขาทำนั้นได้ค่อยๆ ปลุกชีพความนิยมในนาฬิกาจักรกลที่กำลังซบเซาอย่างหนักให้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง และในปี 2023 นี้ ก็ถือเป็นวาระครบรอบปีที่ 40 ของ Chronoswiss และก็เป็นปีที่ Mr. Lang ได้อำลาโลกนี้ไปอย่างสงบ ในโอกาสฉลองนี้ ทางแบรนด์มีเรือนเวลารุ่นพิเศษที่นำหนึ่งในคอลเลกชั่นชั้นอ๋องของแบรนด์อย่าง Delphis (เดลฟิส) กลับมาต่อยอดความนิยมในแบบพิเศษสุด กับรุ่นที่มีชื่อว่า Delphis Oracle (เดลฟิส ออราเคิล)

Gerd-Rüdiger Lang

MITSUBISHI

 

การกลับมาของคอลเลกชั่นไอคอนจากอดีตนี้ ถูกนำเสนอมาด้วยงานออกแบบใหม่ทั้งหมด พร้อมสร้างไฮไลท์ด้วยการบรรจุความซับซ้อนแบบ 2 เท่า นั่นคือการแสดงชั่วโมงแบบ ‘Jumping-hour’ (จัมปิงอาวร์) ซึ่งปรากฏผ่านช่องหน้าต่างทรงสี่เหลี่ยมที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา และการแสดงนาทีแบบ ‘Retrograde’ (เรโทรเกรด) ผ่านเข็มกลางทรง ‘Viking’ (ไวกิ้ง) ที่ผลิตจากทองเหลืองเคลือบทอง ลากกวาดตามแนวแทร็คนาทีที่ผลิตขึ้นจากเซรามิก ซึ่งติดตั้งอยู่ริมขอบหน้าปัดภายใต้ความโค้ง 180 องศา รูปแบบแสดงเวลาที่ซับซ้อนดังกล่าว ถูกจัดวางไว้กับความงดงามของงานหน้าปัดที่รังสรรค์ขึ้นอย่างประณีต  โดยหน้าปัดครึ่งบนสร้างสรรค์ขึ้นจากทอง 18K ซึ่งแกะสลักด้วยเทคนิค ‘Guilloché’ (กิโยเช) ด้วยฝีมือของช่างทองในแบบแฮนด์เมด พร้อมทั้งงานเคลือบสีและลงยาด้วยความร้อน หรือที่เรียกว่าเทคนิค ‘Fire Enamel’ (ไฟร์ อีนาเมล) ถึง 7 ชั้น ทำให้เกิดเอฟเฟ็กต์สีน้ำเงินโปร่งแสงเงางามที่มีความหนาเท่ากันทั่วทั้งแผ่นผิวแบบ 3 มิติ สะท้อนประกายหรูอย่างน่าหลงใหล โดยขั้นตอนทั้งหมดนี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นภายใน ‘Chronoswiss Enamel-Atelier’ (โครโนสวิส อีนาเมลอาเตอลิเยร์)

 

นอกจากนี้ยังเติมเต็มชิ้นงานหรูด้วยส่วนการแสดงวินาทีบนหน้าปัดย่อยที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในลักษณะ ‘Lenticular’ (เลนติคูลาร์) ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ด้วยรูปแบบที่นูนขึ้นมาเล็กน้อย โดย Chronoswiss ตั้งชื่อเรียกเฉพาะให้กับหน้าปัดย่อยชนิดนี้ว่า ‘UFO’ (ยูเอฟโอ) โดยผลิตขึ้นจากทอง 18K ตกแต่งด้วยงานสลักแบบละเอียดในเทคนิค ‘Micro Guilloché’ (ไมโคร กิโยเช) พร้อมทั้งงานเคลือบสีลงยาด้วยเทคนิค ‘Fire Enamel’ เช่นเดียวกับแผ่นหน้าปัดชิ้นบน โดยติดตั้งให้ดูราวกับลอยอยู่บนฐานหน้าปัดสีเทาแอนธราไซต์ลายเกรน ตกแต่งด้วยแผ่นสะพานจักรคู่สีดำด้าน พาดเป็นแนวโค้งอย่างมีเอกลักษณ์

 

การทำงานของนาฬิกาเรือนนี้ใช้จักรกลแบบอัตโนมัติที่ผลิตขึ้นใหม่ทั้งหมดแบบ ‘In-house’ (อินเฮาส์) ในรหัส Cal.C.6004 ไม่ใช่การนำกลไกชุดที่ใช้กับ Delphis รุ่นก่อนๆ มาพัฒนาต่อแต่อย่างใด กลไกชุดนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 33.0 มิลลิเมตร เคลือบผิวชิ้นส่วนด้วยรูธีเนียม ติดตั้งสายใยจักรกลอกแบบ ‘Nivarox 1’ (นิวาร็อกซ์ วัน) และชุดจักรกลอก ‘Glucydur’ (กลูไซดิวร์) แบบ 3 ขา พร้อมด้วยระบบซึมซับแรงกระแทก ‘Incabloc’ (อินคาบล็อก) ใช้ทับทิมกันสึก 37 เม็ด เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง สำรองพลังงานได้นาน 55 ชั่วโมง ผ่านการขึ้นลานด้วยโรเตอร์ฉลุโปร่งที่สลักชื่อแบรนด์เอาไว้อย่างโดดเด่น

 

Delphis Oracle จัดเต็มมาด้วยความหรูหราของตัวเรือนทองชาด 18K ที่ได้รับการสลักเซาะร่องแบบ ‘Fluted’ (ฟลุตด์) เป็นแนวคู่บริเวณขอบข้าง ขนาด 42.0 มิลลิเมตร หนา 14.5 มิลลิเมตร ติดตั้งเม็ดมะยมทรงหัวหอมอันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ กระจกหน้าปัดใช้คริสตัลแซพไฟร์เคลือบสารกันการสะท้อน เช่นเดียวกับฝาหลัง เปิดโอกาสให้ชมชุดจักรกลคาลิเบรอใหม่ที่เต็มไปด้วยงานวิศวกรรมอันวิจิตร พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับการใช้งานด้วยความสามารถในการกันน้ำที่ระดับ 100 เมตร ประกอบกับสายยางสีดำ โดยเป็นการผลิตแบบจำกัดจำนวนเพียง 50 เรือนเท่านั้น ในราคาจำหน่ายซึ่งตั้งไว้ที่ 38,000 ฟรังก์สวิส หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.42 ล้านบาท

SEIKO MAY 23 CONTENT RGT