by: ‘TomyTom’
หลังจากที่ Frédérique Constant (เฟรเดริค คองสตองท์) แบรนด์และผู้ผลิตนาฬิกาซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ในเจนีวา ออกนาฬิการุ่นพิเศษเพื่อเป็นบันทึกแห่งวาระเฉลิมฉลองของการก่อตั้ง 35 ปี ณ ปี 2023 นี้ อันได้แก่ Classic Tourbillon Manufacture (คลาสสิก ทูร์บิญอง แมนูแฟกเจอร์) นาฬิกาทูร์บิญองในดีไซน์คลาสสิกเรียบหรู ซึ่งพัฒนาและผลิตขึ้นภายในเวิร์กช็อปของตนเอง เพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์ตั้งแต่แรกก่อตั้งแบรนด์ นั่นก็คือการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดของการผลิตนาฬิกาจักรกลแบบดั้งเดิมของสวิส ในราคาไม่เกินเอื้อม หากแต่นาฬิกาพิเศษรุ่นนี้ เป็นงานผลิตจำนวนจำกัด 150 เรือน ในตัวเรือนทองกุหลาบ 18K ขัดเงา คู่หน้าปัดสีเทาแอนธราไซต์ปัดลาย ‘Sun-brushed’ (ซันบรัชด์) โดยทางแบรนด์ตั้งราคาไว้ที่ราว 1.23 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่ได้สูงจนเกินไป มาถึงตอนนี้ก็ได้ออกนาฬิการุ่นเดียวกันในเอดิชั่นตัวเรือนสเตนเลสสตีลมาอีก 2 เวอร์ชั่น ซึ่งมีราคาย่อมเยาลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจยิ่งนัก เพราะตั้งไว้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเอดิชั่นเรือนทองกุหลาบ 18K แต่ก็มีสถานะเป็นงานผลิตแบบจำนวนจำกัดเช่นเดียวกัน
ต้องบอกว่า นอกจากวัสดุของตัวเรือนกับตัวล็อกสายแบบบานพับฉลุเป็นตราสัญลักษณ์ของแบรนด์ ที่เปลี่ยนจากทองกุหลาบ 18K ขัดเงา มาเป็นสเตนเลสสตีลขัดเงา และสีทองกุหลาบที่เคลือบบนชิ้นหลักชั่วโมงกับเข็มและกรอบหน้าต่างที่เปลี่ยนมาเป็นสีเงินจากการเคลือบโรเดียม ตลอดจนสีของสายหนังจระเข้จากสีน้ำตาลผิวด้านมาเป็นสีน้ำเงินเข้มผิวด้านแล้ว ทั้ง 2 เวอร์ชั่นใหม่นี้ก็ไม่ได้มีอะไรต่างไปจากเอดิชั่นเรือนทองกุหลาบ 18K ที่ออกมาก่อนเลย ทั้งเรือนร่างและกลไกที่บรรจุอยู่ภายใน ดีไซน์ของตัวเรือนนั้นเมื่อเทียบกับรุ่น Classic Tourbillon Manufacture เจเนอเรชั่นก่อนแล้ว เจเนอเรชั่นใหม่นี้จะดูสมัยใหม่กว่าเล็กน้อย ด้วยแนวขอบและเส้นสายที่ดูโฉบเฉี่ยวขึ้น เป็นทางการน้อยลง และขนาดตัวเรือนที่เล็กลงจาก 42.0 มิลลิเมตร ลงมาเหลือแค่ 39.0 มิลลิเมตร กับความหนารวมกระจกหน้าปัดแซพไฟร์คริสตัลเคลือบสารกันแสงสะท้อนและฝาหลังกรุแซพไฟร์คริสตัลที่ 10.99 มิลลิเมตร กับความสามารถในการกันน้ำ 50 เมตร แต่ขณะที่ตัวเรือนมีขนาดเล็กลง เม็ดมะยมซึ่งเป็นทรงคลาสสิกแบบหัวหอมเซาะร่องห่างมาอย่างคมและลึกกลับมีขนาดที่ใหญ่และหนา ซึ่งช่วยเรียกอารมณ์คลาสสิกของนาฬิกายุคก่อนให้กับนาฬิการุ่นนี้ได้ไม่น้อย
ดีไซน์ขององค์ประกอบบนหน้าปัด ถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับเส้นสายของตัวเรือน ทั้งหลักชั่วโมงที่ออกแบบมาเป็นทรงเหลี่ยมลิ่มขัดเงา เข็มชั่วโมงและเข็มนาทีทรง ‘Alpha’ (อัลฟา) ขัดเงาขนาดกว้างและยาว แต่หักมุมคอดลงสู่หัวเข็มอย่างสวยงามน่าชม และสะพานจักรแบบก้านโปร่งที่ขึ้นรูปมาพร้อมกับวงกรอบที่กรุพอดีกับช่องหน้าต่างกลมวงโตของหน้าปัดที่มีขนาดกว้างใหญ่จากแนวเกือบจรดริมหน้าปัดด้านล่างไปจนถึงแกนเข็มกลาง ส่วนพื้นผิวหน้าปัดก็เรียบง่ายสะอาดตาด้วยการปัดลาย ‘Sun-brushed’ และมีเพียงแค่ชื่อแบรนด์กับข้อความ ‘Swiss Made’ (สวิส เมด) เท่านั้นที่ถูกพิมพ์อยู่บนหน้าปัด บนทางเลือกของ 2 เวอร์ชั่น คือหน้าปัดสีน้ำเงินเข้มพร้อมข้อความสีขาว กับหน้าปัดสีเงินพร้อมข้อความสีดำ ทั้งนี้ก็น่าจะเพื่อให้พุ่งความสนใจไปที่ชุดจักรทูร์บิญอง ที่ตัวกรงถูกตกแต่งมาอย่างเรียบง่ายแต่สวยงามด้วยการเกลาลบมุมขอบ การขัดลายเส้นร่องลึกเป็นแนวประกาย ‘Sunray’ การปัดลายซาตินแนวเส้นตรง การขัดเงาดุจกระจก การลงสีทองในร่องสลักหมายเลขลำดับประจำเรือน และการใช้สกรูสีน้ำเงิน ทั้งยังติดตั้งเข็มวินาทีให้เคลื่อนแสดงการเดินของวินาทีไปพร้อมกับการหมุนของกรงทูร์บิญองด้วย และหากมองทะลุเข้าไปในช่องก็จะแลเห็นการขยับเคลื่อนของจักรเหล็กสีฟ้าซึ่งทำขึ้นจากซิลิกอนได้อย่างชัดเจน และบางจังหวะก็จะแลเห็นโรเตอร์สีทองด้วย ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของนาฬิการุ่นนี้
กลไกที่ใช้ขับเคลื่อนยังคงเป็น Cal.FC-980 กลไกอัตโนมัติ ‘In-house’ (อินเฮาส์) ทับทิม 33 เม็ด บอกเวลาแบบ 2 เข็มกลาง พร้อมเข็มวินาทีขนาดเล็ก ซึ่งเป็นความชาญฉลาดในการออกแบบกลไกของทางแบรนด์มาตั้งแต่เริ่มแรก เพราะเป็นการสร้างเครื่องฐานที่สามารถเปลี่ยนชุดควบคุมเวลาได้ นั่นหมายถึงว่าโครงสร้างกลไกโดยรวมก็คือกลไกอัตโนมัติ ‘In-house’ ความถี่การทำงาน 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง รูปแบบปกติที่มีใช้อยู่กับรุ่นต่างๆ ของแบรนด์ แต่เปลี่ยนชุดกลไกควบคุมเวลาจากแบบปกติมาเป็นจักรกลทูร์บิญองที่หมุนครบรอบใน 1 นาที ซึ่งชุดทูร์บิญองนี้มีส่วนประกอบมากถึง 81 ชิ้น และใช้จักรเหล็กและแองเคอร์ที่ทำจากซิลิกอน สำหรับการสำรองพลังงานสามารถให้ได้สูงสุด 38 ชั่วโมง ซึ่งอาจดูน้อยไปสักหน่อยในยุคปัจจุบัน แต่ด้วยความที่เป็นกลไกแบบขึ้นลานอัตโนมัติ ก็ไม่น่าที่จะถือเป็นเรื่องใหญ่นัก บนขอบฝาหลังสลักหมายเลขประจำเรือนเอาไว้ด้วย ส่วนงานตกแต่งตัวแท่นกลไก สะพานจักร ก็กระทำมาอย่างสวยงามสมตัว ทั้งการปาดขอบ การสร้างลายผิวแบบ ‘Côtes de Genève’ (โกตส์ เดอ เฌอแนฟ) การขัดแนววน การขัดเงา และการลงสีทองในร่องสลักข้อความและตราสัญลักษณ์ ร่วมด้วยการใช้สกรูสีน้ำเงิน ส่วนตัวโรเตอร์ก็เป็นแบบฉลุโปร่งเคลือบทอง และมีการปัดลายเส้นมาอย่างเรียบง่ายแต่ดูดี
2 เวอร์ชั่นสีหน้าปัดของ Classic Tourbillon Manufacture ตัวเรือนสเตนเลสสตีล ถูกผลิตขึ้นในแบบ ‘Limited Edition’ (ลิมิเต็ด เอดิชั่น) สีละ 350 เรือน กับราคาจำหน่ายเท่ากันที่ 14,495 ยูโร หรือราว 548,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นราคาย่อมเยามากกับสถานะนาฬิกาสวิสแท้ๆ ที่มากับกลไกทูร์บิญอง ‘In-house’ เช่นนี้