UN HEADER 23
UN HEADER 23
Home Articles HYT HASTROID RAINBOW - ศิลป์เวลาหลากสี

HYT HASTROID RAINBOW – ศิลป์เวลาหลากสี

by: ‘TomyTom’

 

ต้อนรับเดือนมิถุนายนอันเป็นวาระเวลาของเทศกาล ‘Pride Month’ (ไพรด์ มันธ์) เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีการเฉลิมฉลองกันตลอดเดือนเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดความเสมอภาค วันนี้จึงอยากเกาะกระแสด้วย Hastroid Rainbow (แฮสทรอยด์ เรนโบว์) งานผลิตแบบ ‘Limited Edition’ (ลิมิเต็ด เอดิชั่น) จำนวนจำกัดเพียง 15 เรือน จากคอลเลกชั่น Hastroid ของแบรนด์สวิส HYT (เอชวายที) ที่ให้สีเป็นพิเศษด้วยการใช้สีรุ้ง พ้องกับธงสีรุ้ง สัญลักษณ์แห่ง ‘Pride Month’ ที่แต่ละสีได้ถูกบัญญัติความหมายเอาไว้ คือสีแดง หมายถึงการต่อสู้หรือชีวิต สีแสด หมายถึงการเยียวยา สีเหลือง หมายถึงดวงอาทิตย์ สีเขียว หมายถึงธรรมชาติ สีน้ำเงินกับสีคราม หมายถึงศิลปะกับความผสานกลมกลืน และสีม่วงหมายถึงจิตวิญญาณของชาว LGBTQ

MITSUBISHI

 

การสร้างสีรุ้งเติมแต่งบนองค์ประกอบหน้าปัดของนาฬิการุ่นนี้ HYT ได้นำหนึ่งในเทคนิคศิลปะสมัยใหม่ที่เรียกว่า ‘Techno Art’ (เทคโน อาร์ต) มาใช้ ซึ่งเป็นความท้าทายยิ่งในการผสมผสานสิ่งนี้เข้ากับทักษะอันโดดเด่นล้ำอนาคตของการประดิษฐ์นาฬิการะดับสูงแห่ง HYT โดยสีรุ้งที่ปรากฏในนาฬิการุ่นนี้จะใช้กับส่วนของการแสดงค่าชั่วโมงที่กระทำด้วยเทคโนโลยีกลไกรูปแบบเฉพาะตัวของ HYT อันประกอบด้วยสีรุ้งแบบแบ่งสเปกตรัมอย่างแนบเนียนบนพื้นหลังของหลอดใสบรรจุสารเหลวสีโดยมีแนวเส้นสีดำเป็นขีดสเกลตามตำแหน่งหลักชั่วโมง และพื้นผิวของวงแหวนหน้าปัดที่ฉลุเป็นลายรังผึ้ง ขนาบด้วยเส้นวงแหวนสีดำซึ่งมีหลักชั่วโมงสีดำฉาบสีเรืองแสง ‘Lumicast’ (ลูมิคาสต์) สีขาวนูนเด่นขึ้นมา ซึ่งทำให้เกิดมิติที่สวยงามชวนมอง ขณะที่แนววงแหวนฝั่งด้านใน ถัดจากแนวหลอดสารเหลวจะเป็นพื้นสีดำที่พิมพ์แนวเส้นประสีม่วงอ่อนกับสเกลเลขนาทีสีขาวเอาไว้ให้เข็มนาทีฉลุโปร่งสีดำสลับม่วงอ่อนผิวด้าน และมีสีขาวที่ส่วนปลายเป็น ‘Lumicast’ ฉาบสารเรืองแสง ‘SuperLumiNova’ (ซูเปอร์ลูมิโนวา) สีขาว

 

กลไกการแสดงชั่วโมงในลักษณะ ‘Retrograde’ (เรโทรเกรด) กวาดไปจนสุดแล้วตีกลับด้วยสารเหลวในหลอดแก้ว ‘Borosilicate’ (โบโรซิลิเกต) โปร่งแสงที่เรียกว่า ‘Mecafluid’ (เมกาฟลูอิด) ของ HYT อันเป็นรูปแบบที่ใช้กับนาฬิการุ่นเด่นตระกูล Hastroid ถูกนำมาผสมผสานเข้ากับเทคนิคศิลปะ ‘Techno Art’ ได้อย่างน่าสนใจ พื้นผิววัสดุทองเหลืองที่เป็นลายรังผึ้งนั้นเป็นการฉลุด้วยเลเซอร์ แล้วจึงลงสีด้วย ‘Zapon’ (ซาปอง) แลคเกอร์ระดับพรีเมียม ซึ่งเป็นแลคเกอร์ชนิดองค์ประกอบเชิงเดี่ยวที่มอบการปกป้องในระยะยาวได้ดีกับพื้นผิวที่ผ่านกระบวนการกัลวานิกมา การเคลือบแลคเกอร์นี้จะใช้กระบวนการแรงดันซึ่งต้องใช้ทักษะเฉพาะด้านในการกระทำ โดยต้องเคลือบด้วยสีขาวผิวเงาก่อนเพื่อให้เกิดผิวสว่าง แล้วจึงพ่นสีย้อมเป็นชั้นบางๆ หนาไม่เกิน 2-3 ไมครอน ทับกันหลายชั้นอย่างแม่นยำและอดทนด้วยมือ เพราะต้องบรรจงไล่ระดับเพื่อไล่เปลี่ยนเฉดสีอย่างแนบเนียน ปิดท้ายด้วยการเคลือบ ‘Zapon’ เนื้อใสเพื่อให้เกิดความคงทนในระยะยาว ซึ่งทำให้ชิ้นงานในแต่ละเรือนนั้นจะไม่มีเรือนใดที่เหมือนกันได้เป๊ะๆ โดยเป็นฝีมือของ Yan Patriarca (ยาน ปาตริอาร์กา) ผู้เชี่ยวชาญด้านแลคเกอร์แห่ง ‘MD’Art SA’ (เอ็มดาร์ต แอสอา) ส่วนพื้นด้านหลังของวงหน้าปัดฉลุรังผึ้งจะเป็นสีดำเพื่อให้เห็นลายร่องอย่างชัดเจน

 

สีพื้นหลังใต้หลอดโปร่งแสงถูกเคลือบมาในเฉดที่ใกล้เคียงกับสีบนวงหน้าปัดฉลุลายรังผึ้ง เพื่อให้เกิดมิติสีสันเมื่อมองผ่านหลอด ในขณะที่การอ่านค่าชั่วโมงด้วยรูปแบบ ‘Fluidic Retrograde Hours Indicator’ (ฟลูอิดิก เรโทรเกรด อาวร์ส อินดิเคเตอร์) ที่จะใช้แรงดันสารเหลว 2 สี ผลักให้อ่านค่า ณ จุดบรรจบสำหรับเอดิชั่นนี้จะเป็นสารเหลวสีดำกับสารเหลวใส ส่วนการแสดงวินาทีด้วยเข็มแบบ 3 แฉก และการแสดงพลังงานสำรองด้วยเข็ม ณ ตำแหน่งราว 9.30 กับ 2.30 นาฬิกา ถัดจากวงสเกลนาทีเข้าไปนั้น มาในรูปแบบเรียบง่ายด้วยการใช้สีดำผิวด้านร่วมกับสีขาวและสีแดง โดยที่ส่วนปลายเข็มตำแหน่งแสดงค่าจะเป็น ‘Lumicast’ ฉาบสารเรืองแสง ‘Super-LumiNova’ สีแดงและสีขาวเพื่อเพิ่มความชัดเจน กลไกที่ใช้เป็นแบบไขลาน Cal.501-TC ความถี่การทำงาน 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง จำนวนทับทิม 43 เม็ด ให้พลังงานสำรองได้นานถึง 72 ชั่วโมง โดยมีการตกแต่งพื้นผิวแท่นเครื่องกับสะพานจักรด้วยการพ่นทรายและการปัดลายซาติน และเคลือบให้เป็นสีดำ ซึ่งสามารถแลเห็นความงามเชิงเทคนิคจักรกลเหล่านี้ได้ชัดๆ ทางด้านหน้า เพราะไม่มีแผ่นหน้าปัดมาปกปิด

 

ตัวเรือนของเอดิชั่นนี้มากับขนาด 48.0 x 52.3 มิลลิเมตร หนา 17.2 มิลลิเมตร โดยชิ้นหน้ากับชิ้นหลังทำขึ้นจากคาร์บอนไฟเบอร์แบบหลายชั้น ยึดประกบเข้ากับตัวเรือนชิ้นกลางที่ทำจากไทเทเนียมเคลือบสีดำผิวด้านด้วยเทคนิค DLC เม็ดมะยมเป็นไทเทเนียมเคลือบสีดำด้วยเทคนิค DLC ผนึกกระจกหน้าปัดแซพไฟร์คริสตัลเคลือบสารกันแสงสะท้อน และมีชิ้นส่วนด้านข้างตัวเรือนเป็นตะแกรงสีดำที่มีพื้นหลังด้านในเป็นสีดำเช่นกัน การกันน้ำกระทำได้ถึงระดับ 30 เมตร จับคู่มากับสายยางสีม่วงที่ตกแต่งด้วยแผ่นผ้าไมโครไฟเบอร์สีดำ และด้ายสีม่วง

 

HYT ตั้งราคา Hastroid Rainbow Ref.H03042-A ผลิตจำนวนจำกัด 15 เรือน รุ่นนี้เอาไว้ที่ 75,000 ฟรังก์สวิส หรือราว 2.871 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ยังไม่รวมภาษีขาย

SEIKO JUNE 23 CONTENT RGT