UN HEADER 23
UN HEADER 23
Home Articles IWC BIG PILOT’S WATCH AMG G 63 - เมื่อรถลุยแรงหรูรวมร่างกับเรือนนักบิน

IWC BIG PILOT’S WATCH AMG G 63 – เมื่อรถลุยแรงหรูรวมร่างกับเรือนนักบิน

by: ‘TomyTom’

 

การนำแรงบันดาลใจจากรถสปอร์ตหรือซูเปอร์คาร์มาใช้ตกแต่งเรือนเวลานั้น มิใช่อะไรที่แปลกใหม่ เพราะมีให้เห็นกันมากมาย แต่กับแรงบันดาลใจจากรถลุยนั้นไม่ได้มีให้เห็นกันบ่อยนัก และสำหรับ IWC (ไอดับเบิลยูซี) ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับ Mercedes-Benz (เมอร์เซดีส-เบนซ์) ในภาคส่วนของสำนักแต่ง Mercedes-AMG (เมอร์เซดีส-เอเอ็มจี) แห่งเยอรมนีมาเกือบจะ 20 ปี แล้ว การนำ G-Class (จีคลาส) รถสูงขับ 4 พันธุ์ลุยระดับไอคอน ซึ่งมีบุคลิกเฉพาะตัว รวมถึงรูปร่างหน้าตาที่อยู่ยงคงกระพันมานานปี และไม่มีทีท่าจะเสื่อมความนิยมลงเลย โดยเป็นผลงานตัวแรงหรูรุ่น G 63 (จี ซิกซ์ตีธรี) จากแผนก AMG มาเป็นแรงบันดาลใจในการตกแต่งบนเรือนนาฬิกานักบินร่างใหญ่ Big Pilot’s Watch (บิ๊ก ไพลอทส์ วอทช์) ของตน ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และถือเป็นของขวัญชิ้นเอกที่ทั้ง 2 แบรนด์ ร่วมกันมอบให้กับ 2 วงการ และนาฬิกาที่ว่าก็คือ Big Pilot’s Watch AMG G 63 (บิ๊ก ไพลอทส์ วอทช์ เอเอ็มจี จี ซิกตีธรี) นาฬิกา ‘Special Edition’ (สเปเชียล เอดิชั่น) ที่มาพร้อมกัน 2 เวอร์ชั่นพิเศษ

MITSUBISHI

 

ความพิเศษของ Big Pilot’s Watch AMG G 63 เริ่มตั้งแต่ตัวเรือน ขอบตัวเรือน เม็ดมะยมทรงเพชรเม็ดโต และวงฝาหลัง ที่เอดิชั่นหนึ่งสร้างขึ้นจาก ‘Armor Gold®’ (อาร์มอร์ โกลด์) 18K นวัตกรรมโลหะผสมที่ยกค่าความแข็งของทองขึ้นอีกระดับ โดยเป็นการปรับปรุงโครงสร้างระดับจุลภาค เพื่อทำให้โลหะสูงค่าที่มีเนื้ออ่อนอย่างทองสามารถต้านทานสภาพแวดล้อมในการใช้งานได้ดีขึ้นกว่าทองชาด 18K ชนิดปกติมาก ทั้งในแง่ความแข็งและความทนทานต่อการสึกหรอ

 

ส่วนอีกเอดิชั่นใช้ตัวเรือนและขอบตัวเรือน CMC (ซีเอ็มซี) หรือ ‘Ceramic Metrix Composite’ (เซรามิก เมตริกซ์ คอมโพสิต) สีดำด้านที่มีโครงสร้างแปลกตาไม่ซ้ำกันในเนื้อผิว นับเป็นนาฬิการุ่นแรกของ IWC ที่สร้างตัวเรือนด้วยวัสดุผสมชนิดนี้ ซึ่งเป็นวัสดุที่มี ‘German Aerospace Center’ (เยอรมัน แอโรสเปซ เซ็นเตอร์) หรือ ‘DLR’ (ดีแอลอาร์) มาร่วมพัฒนาอย่างใกล้ชิด ความแตกต่างของวัสดุชนิดนี้กับวัสดุโพลีเมอร์เสริมแรงด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ที่ใช้กันโดยทั่วไปก็คือ เส้นใยของวัสดุผสมชนิดนี้ถูกฝังลงในเมทริกซ์ของเซรามิก ไม่ใช่โพลีเมอร์ ส่วนประกอบของ CMC จึงทนทานต่อการเกิดความเสียหายได้มากกว่า เพราะไร้ซึ่งผลกระทบใดๆ จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลัน จึงเป็นวัสดุที่เหมาะอย่างยิ่งในการนำไปใช้สร้างวัตถุที่ต้องการความเป็นที่สุดในเรื่องความเบา ความแข็งแกร่ง และการต้านทานต่ออุณหภูมิ ตั้งแต่อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ไปจนถึงการผลิตจานเบรกสำหรับรถแรงทั้งหลาย ขณะที่เม็ดมะยมและวงฝาหลังสีดำนั้นถูกทำขึ้นจาก ‘Ceratanium®’ (เซราเทเนียม) ซึ่งเป็นวัสดุล้ำหน้าอีกชนิดหนึ่งที่ IWC ใช้อยู่กับนาฬิกาของตน

 

ตัวเรือนต่างวัสดุกันของ 2 เอดิชั่น นี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางและความหนารวมกระจกหน้าปัดคริสตัลแซพไฟร์ทรงโค้งเคลือบสารกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ฝั่ง ที่ผนึกอย่างแน่นหนาไม่ให้เกิดการหลุดเนื่องจากการลดลงของความกดอากาศ และฝาหลังกรุคริสตัลแซพไฟร์แล้ว ต่างกันอยู่เล็กน้อย แต่สามารถกันน้ำได้ถึงระดับ 10 บาร์ (100 เมตร) เท่ากัน และทั้ง 2 มากับสายยางสีดำฝังแผ่นไมโครไฟเบอร์และเย็บแต่งด้วยด้ายสีดำเช่นเดียวกัน

 

การขับเคลื่อนเป็นภาระหน้าที่ของกลไก ‘In-house’ (อินเฮาส์) อัตโนมัติ ความถี่การทำงาน 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง จำนวนชิ้นส่วนรวม 252 ชิ้น จำนวนทับทิมกันสึกรวม 31 เม็ด Cal.52010 บอกเวลาแบบ 2 เข็มกลาง ร่วมกับเข็มวินาทีขนาดเล็กที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา ซึ่งจะหยุดทำงานขณะตั้งเวลา พร้อมฟังก์ชันวันที่ และการบอกพลังงานสำรองด้วยเข็มขนาดเล็กที่ 3 นาฬิกา ที่ซึ่งมีความทนทานเป็นเลิศจากการสร้างชิ้นส่วนของระบบขึ้นลานจากเซอร์โคเนียมออกไซด์เซรามิกที่ปราศจากการสึกหรอ เพื่อให้ชิ้นส่วนที่ต้องรับแรงมากเหล่านี้มีความทนทานเป็นพิเศษ ขณะที่ระบบขึ้นลานเป็นแบบ 2 ทิศทาง ‘Pellaton’ (เพลลาตัน) ที่สามารถป้อนกำลังสู่ตลับลานได้แม้โรเตอร์จะขยับเพียงเล็กน้อย ซึ่ง Albert Pellaton (อัลเบิร์ต เพลลาตัน) อดีตผู้อำนวยการแผนกเทคนิคของ IWC เป็นผู้พัฒนาขึ้นในยุคทศวรรษ 1940s โดยตลับลาน 2 ชุด ในคาลิเบรอนี้จะสามารถสำรองพลังงานได้นานถึง 168 ชั่วโมง ซึ่งก็คือ 7 วัน

 

การมองเห็นกลไกอาจไม่กระจ่างชัดนัก เพราะกรุฝาหลังด้วยแผ่นคริสตัลแซพไฟร์ย้อมสีที่มีตราดาวแต่งสีเงินสลับดำของ Mercedes-Benz ปรากฏอยู่บนพื้นแถบสีดำ อันเป็นการจำลองภาพของฝาครอบยางอะไหล่ซึ่งติดตั้งอยู่ท้ายรถ G-Class ทั้งบนกระจกยังพิมพ์ข้อความสีขาวบ่งบอกความพิเศษไว้ว่า ‘Edition G-Class’ (เอดิชั่น จีคลาส) และ ‘Stronger Than Time’ (สตรองเกอร์ แดน ไทม์) อันเป็นวลีสื่อความแข็งแกร่งเหนือกาลเวลาของรถ G-Class ที่ทาง Mercedes-Benz เคยใช้เป็นชื่อเอดิชั่นของรุ่นฉลองครบรอบ 40 ปี ของ G-Class เมื่อปี 2019 ขนาบอยู่ฝั่งบนกับล่าง โดยกระจกฝาหลังของเอดิชั่น ‘Armor Gold®’ 18K จะย้อมเป็นสีชา แต่เอดิชั่น CMC จะรมดำ

 

ฝั่งหน้าปัดกับเข็มที่ใช้เป็นสีดำเหมือนกันทั้ง 2 เอดิชั่นนั้น ลักษณะเฉพาะตัวของ G-Class จะปรากฏให้เห็นตรงหน้าปัดวินาที ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกา และหน้าปัดมาตรพลังงานสำรอง ณ 3 นาฬิกา ซึ่งทั้ง 2 เป็นพื้นวงสีดำผิวลายวงแหวนถี่ที่สะท้อนเหลือบยามต้องแสง โดยมีวงแหวนสีขาวล้อมเป็นตำแหน่งในการพิมพ์สเกลสีดำเส้นบางๆ ร่วมกับขีดสีดำหนาในแนวขวางจาก 3 สู่ 9 นาฬิกา ของทั้ง 2 วง เพื่อชวนให้นึกถึงดวงไฟกลมหน้ารถ G-Class โดยมีเข็มทรงดาบกว้างสีดำเติมร่องด้วยสารเรืองแสงสีขาว ส่วนผิวหน้าปัดสีดำก็จะแต่งลายนูนเป็นลักษณะโครงสร้างเชิงเทคนิค ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากช่องผ่านอากาศเข้าเครื่องของเหล่ารถแรงจาก Mercedes-AMG โดยมีการติดตั้งป้ายสีดำพื้นเรียบสำหรับพิมพ์ชื่อแบรนด์ IWC ชื่อเมือง ‘Schaffhausen’ (ชาฟฟ์เฮาเซน) อันเป็นแหล่งผลิต และข้อความ ‘Automatic’ (ออโตเมติก) ด้วยสีขาวลงบนตำแหน่งต่างๆ ของหน้าปัด และเจาะช่องหน้าต่างวันที่ล้อมกรอบสี่เหลี่ยมคางหมูเคลือบสีดำ เพื่อแสดงเลขวันที่บนจานสีดำเอาไว้เหนือตำแหน่ง 6 นาฬิกา

 

อีกรายละเอียดที่น่าสนใจก็คือ ตัวเลขหลักชั่วโมงและหลักสเกลที่พิมพ์ลงบนหน้าปัดโดยตรงในรุ่นปกติ ถูกแทนที่ด้วยการติดชิ้นเลขหลักชั่วโมงและแท่งสเกลใหญ่ทุกหลัก 5 และสัญลักษณ์สามเหลี่ยมขนาบจุดกลม 2 ฝั่ง ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ซึ่งถูกเคลือบเป็นสีดำด้วยเทคนิค PVD และเติมร่องด้วยสารเรืองแสง โดยเอดิชั่น ‘Armor Gold®’ จะเป็นสีเบจ ซึ่งก็จะใช้สีเบจกับชิ้นแท่งสเกลผอม และพิมพ์ข้อความ ‘Swiss Made’ (สวิส เมด) บนพื้นป้ายสีดำกับเลขวันที่เป็นสีเบจด้วย ขณะที่เอดิชั่น CMC นั้น สิ่งที่กล่าวมานี้จะเป็นสีขาวทั้งหมด

 

Ref.IW501201 ซึ่งเป็นเอดิชั่น ‘Armor Gold®’ 18K ตกแต่งผิวแบบพ่นทรายสลับกับการขัดเงาที่แนวขอบนั้นมีขนาดเท่ากับ 46.2 มิลลิเมตร หนา 14.4 มิลลิเมตร กำหนดราคาไว้ที่ 1.165 ล้านบาท ตามที่ระบุในเว็บไซต์ ขณะที่ Ref.IW506201 ที่ทำจาก CMC นั้นใหญ่กว่าเล็กน้อย คือ 46.5 มิลลิเมตร กับความหนา 14.6 มิลลิเมตร กับราคาจำหน่าย 44,000 ฟรังก์สวิส หรือราว 1.758 ล้านบาท (เป็นราคาที่อ้างอิงจากเว็บไซต์ของสื่อต่างประเทศ เพราะบนเว็บไซต์ของ IWC ยังมิได้มีเอดิชั่นนี้แสดงไว้) โดยการจับคู่ทองกับหน้าปัดสีดำของเอดิชั่น ‘Armor Gold®’ ซึ่งดูเป็นแนวสปอร์ตเจือความหรูหราแบบร่วมสมัยนั้น ทาง IWC บอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากสีที่ใช้กับตัวถังและการตกแต่งภายในของรถ Mercedes-AMG G 63 รุ่น ‘Grand Edition’ (แกรนด์ เอดิชั่น) ที่เพิ่งเปิดตัวสู่ตลาดเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนเอดิชั่น CMC นั้นดูจะชวนให้นึกถึงรถในเวอร์ชั่นแต่งดำเต็มตัวที่ประพรมด้วยฝุ่นโคลนจากการลุย โดยทั้ง 2 เอดิชั่นของ IWC Big Pilot’s Watch AMG G 63 ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ ‘Special Edition’ ที่มิได้แจ้งจำนวนการผลิตไว้ให้ทราบ

SEIKO JUNE 23 CONTENT RGT