HOME HEADER
HOME HEADER
Home Articles IWC PORTOFINO PERPETUAL CALENDAR - ปฏิทินตลอดชีพในร่างคลาสสิกไซส์พอดี

IWC PORTOFINO PERPETUAL CALENDAR – ปฏิทินตลอดชีพในร่างคลาสสิกไซส์พอดี

by: ‘Mr.Big’

 

IWC (ไอดับเบิลยูซี) ส่งมอบเสน่ห์แห่งความหรูคลาสสิกครั้งใหม่ให้กับ Portofino (ปอร์โตฟิโน) คอลเลกชั่นที่ตั้งชื่อตามเมืองเล็กๆ สุดโรแมนติกบริเวณชายฝั่งอิตาเลียนริเวียร่า ด้วยการนำฟังก์ชัน ‘Perpetual Calendar’ (เพอร์เพทชวล กาเลนดาร์) หนึ่งในสุดยอดฟังก์ชันระดับ ‘3 Kings’ (ธรี คิงส์) ที่เป็นมรดกของนักประดิษฐกลไกเวลาระดับตำนานของแบรนด์อย่าง Kurt Klaus (เคิร์ท เคลาส์) มาผสมผสานเข้ากันอย่างลงตัวอีกครั้ง หลังจากที่ IWC เคยสร้างสรรค์ฟังก์ชันดังกล่าวกับ Portofino ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1990 และนี่คือซีรีย์ใหม่ในรอบ 32 ปีของ Portofino Perpetual Calendar (ปอร์โตฟิโน เพอร์เพทชวล กาเลนดาร์)

MITSUBISHI

 

Portofino รุ่นใหม่ที่ผสมผสานด้วยฟังก์ชันปฏิทินตลอดชีพเรือนนี้ ยังคงส่งมอบความคลาสสิกได้อย่างน่าประทับใจ ในวัสดุตัวเรือนที่มีให้เลือกระหว่างทองกุหลาบ 18K ในเลขรหัส IW344602 และสเตนเลสสตีล IW344601 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ IWC นำเสนอฟังก์ชัน ‘Perpetual Calendar’ ในตัวเรือนสเตนเลสสตีลของ Portofino นอกจากนี้ยังมากับฐานะนาฬิกาฟังก์ชัน ‘Perpetual Calendar’ ที่เล็กที่สุดของ IWC กับขนาดตัวเรือน 40.0 มิลลิเมตร หนา 12.7 มิลลิเมตร ที่เข้ากับเทรนด์นิยมนาฬิกาไซส์พอเหมาะในช่วงนี้พอดี พร้อมงานขัดแต่งพื้นผิวจนเงาวับ สมกับบุคลิกเดรสวอทช์ และมีค่าการกันน้ำอยู่ที่ 60 เมตร กรุกระจกหน้าปัดชนิดคริสตัลแซพไฟร์ทรงกล่องขอบโค้ง เคลือบสารกันการสะท้อน

 

ทั้ง 2 รุ่น มาพร้อมพื้นหน้าปัดชุบเงินที่มีเลย์เอาท์แบบเดียวกัน แตกต่างกันเพียงแค่สีของเข็มและหลักชั่วโมง ที่ในรุ่นสเตนเลสสตีลจะเป็นงานเคลือบโรเดียม ในขณะที่รุ่นทองกุหลาบ 18K เป็นแบบเคลือบทองกุหลาบเพื่อให้กลมกลืนกับสีของตัวเรือน แต่งขอบด้วยแทร็คสเกลเวลา 60 นาที และวงหน้าปัดย่อย 3 วง ที่จัดวางอย่างสมมาตร แสดงฟังก์ชันปฏิทินตลอดชีพทั้งวัน วันที่ เดือน และปีอธิกสุรทินด้วยตัวเลขอารบิกสำหรับปีปกติ และตัวอักษร ‘L’ สีแดงที่ปรากฏเฉพาะในปีอธิกสุรทิน ภายในช่องหน้าต่างกลมเล็ก ภายในหน้าปัดที่ 9 นาฬิกา เสริมด้วยการแสดงข้างขึ้น-ข้างแรมผ่านดิสก์สีน้ำเงินเข้ม ที่ตกแต่งด้วยรูปพระจันทร์และดวงดาวสีเงินโรเดียมสำหรับรุ่นสเตนเลสสตีล และสีทองสำหรับรุ่นทองกุหลาบ 18K โดยปรากฏผ่านช่องหน้าต่างทรงพัดคลี่ภายในหน้าปัดย่อยตำแหน่ง 6 นาฬิกา นำเสนอควบคู่ไปกับการบอกเวลาปกติแบบ 3 เข็ม

 

ความยอดเยี่ยมทั้งหมดนี้ทำงานด้วยกลไก ‘In-house’ (อินเฮาส์) ออโตเมติก Cal.82650 ซึ่งเป็นชุดจักรกลที่เผยโฉมในปี 2020 โดยนำมาใช้ครั้งแรกกับ Portugieser Perpetual Calendar (ปอร์ตูกีเซอร์ เพอร์เพทชวล กาเลนดาร์) โดยพัฒนาขึ้นจากเครื่องฐานชุด Cal.82200 ซึ่งเดิมเป็นชุดจักรกลฟังก์ชันบอกเวลาแบบ 2 เข็ม นำมาใส่โมดูล ‘Perpetual Calendar’ ประสิทธิภาพสูง พร้อมการแสดงข้างขึ้น-ข้างแรมด้วยความแม่นยำสูงสุด จากระบบทดลานของเฟืองเกียร์แบบลดขนาด ทำให้มีอัตราคลาดเคลื่อนจากรอบโคจรดวงจันทร์ที่แท้จริงเพียง 1 วัน หลังจากผ่านไป 577.5 ปี และยังมาพร้อมระบบแฮ็กเข็มวินาที กลไกชุดนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30.0 มิลลิเมตร เสริมด้วยชิ้นส่วนที่ทำจากเซรามิกเซอร์โคเนียมออกไซด์ที่ช่วยลดการสึกหรอ ติดตั้งทับทิมกันสึก 46 เม็ด ความถี่ 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง และมีค่าสำรองพลังงานสูงสุด 60 ชั่วโมง จากระบบช่วยขึ้นลานแบบ ‘Pellaton’ (เพลลาตัน) ซึ่งประกอบด้วยตีนผี 2 ตัว ที่มีรูปร่างเหมือน ‘นกหัวขวาน’ เสริมเข้ากับการขึ้นลานหลักของโรเตอร์แบบฉลุโปร่งชนิดเหวี่ยง 2 ทิศทาง ที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม ตกแต่งด้วยเหรียญตรา ‘Probus Scafusia’ (โปรบุส สกาฟูเซีย) ที่เป็นเครื่องยืนยันถึงมาตรฐานชั้นเยี่ยมของ IWC โดยเปิดโอกาสให้ชื่นชมกันแบบเต็มๆตา ผ่านฝาหลังที่กรุด้วยคริสตัลแซพไฟร์บานใหญ่

 

เพิ่มบุคลิกคลาสสิกเดรสอย่างสมบูรณ์ด้วยการประกอบกับสายหนังลูกวัวสีน้ำเงินลายเกรน พร้อมเย็บตะเข็บแบบออนโทน และตัวล็อกสายที่รังสรรค์ด้วยวัสดุแบบเดียวกับตัวเรือน โดยเปิดราคาให้เป็นเจ้าของกันในรุ่นทองกุหลาบ 18K ที่ 34,000 ฟรังก์สวิส ซึ่งคิดเป็นเงินไทยราว 1.26 ล้านบาท และรุ่นสเตนเลสสตีลที่ราคา 24,000 ฟรังก์สวิส หรือประมาณ 890,000 บาท และสามารถลงทะเบียนกับโปรแกรม ‘My IWC Care’ (มาย ไอดับเบิลยูซี แคร์) เพื่อขยายการรับประกันขึ้นไปเป็น 6 ปีเต็ม

SEIKO MAY 23 CONTENT RGT