UN HEADER 23
UN HEADER 23
Home Articles LEICA ZM11 - เอดิชั่นใหม่ในร่างเยอรมัน+หัวใจสวิส

LEICA ZM11 – เอดิชั่นใหม่ในร่างเยอรมัน+หัวใจสวิส

by: ‘Mr.Big’

 

Leica (ไลกา) คือแบรนด์กล้องถ่ายภาพคุณภาพสูงสัญชาติเยอรมัน ที่ปัจจุบันไม่ได้มีดีแค่เพียงการผลิตกล้องถ่ายรูปเท่านั้น แต่ยังเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แตกแขนงอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า โทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงแอคเซสเซอรี่ต่างๆ และนาฬิกาก็คือหนึ่งในไลน์ผลิตภัณฑ์ที่ Leica ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยหลังจากที่เปิดตัวคอลเลกชั่นแรกไปเมื่อปี 2018 ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง และถูกถามถึงคอลเลกชั่นต่อๆ มาโดยตลอด จนถึงปีนี้ก็ได้เวลาที่จะนำเสนอคอลเลกชั่นใหม่อีกครั้ง และนี่คือ ZM11 (ซีร์เอ็มอีเลฟเวน)

MITSUBISHI

 

สิ่งที่เปลี่ยนไปในคอลเลกชั่นใหม่นี้ นอกเหนือจากรูปร่างหน้าตาก็คือจักรกลภายใน ซึ่งแต่เดิม Leica จะสร้างสรรค์กลไกนาฬิกาของตนเองขึ้นภายในเวิร์กช็อป ‘Lehmann Präzision GmbH’ (เลห์มันน์ ปราซิชัน เกเอ็มเบฮา) ประเทศเยอรมนี แต่ในครั้งนี้ประสานความร่วมมือกับ ‘Chronode SA’ (โครโนด แอสอา) บริษัทผู้ผลิตกลไกนาฬิการะดับสูงมืออาชีพของสวิตเซอร์แลนด์ ในการผลิตกลไก เพื่อยกระดับคุณภาพการทำงานให้ดีและน่าสนใจยิ่งขึ้น แม้ความซับซ้อนด้านฟังก์ชันจะน้อยกว่ารุ่นที่ผ่านมาก็ตาม โดย ZM11 รุ่นใหม่นี้เปิดตัวออกมาใน 3 เวอร์ชั่น ซึ่งจับคู่ตัวเรือนกับหน้าปัดได้อย่างรับกัน พร้อมชื่อเฉพาะในแต่ละเอดิชั่น ได้แก่ ‘Steel Midnight Blue Edition’ (สตีล มิดไนท์ บลู เอดิชั่น) ในตัวเรือนสเตนเลสสตีลปัดลายซาตินพร้อมหน้าปัดสีน้ำเงินมิดไนท์บลู ‘Titanium Coffee Black Edition’ (ไทเทเนียม คอฟฟี่ แบล็ก เอดิชั่น) ในตัวเรือนไทเทเนียมกับหน้าปัดสีดำล้วน และ ‘Titanium Launch Edition’ (ไทเทเนียม ลอนช์ เอดิชั่น) กับตัวเรือนไทเทเนียมผิวทรายกับหน้าปัดสีดำสลับลายแดง ซึ่งเฉพาะเอดิชั่นนี้เป็นงานผลิตแบบจำนวนจำกัดเพียง 250 เรือน

 

ตัวเรือนของทุกรุ่นมาในดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ดูทันสมัยตามสไตล์ของงานเยอรมัน พร้อมด้วยขาสายแบบฮู้ด ในขนาดที่เท่ากันคือ 41.0 มิลลิเมตร หนา 13.0 มิลลิเมตร พร้อมความสามารถในการกันน้ำที่ระดับ 100 เมตร หน้าปัดตกแต่งด้วยลายเส้นขวางไล่ระดับที่ได้คอนเซ็ปต์มาจากการคอนทราสต์ของแสงและเงา อันได้แรงบันดาลใจมาจากแสงที่ส่องลอดผ่านมู่ลี่ ปรากฏอยู่บนพื้นหน้าปัดแบบ ‘Dual-layered Dial’ (ดูอัลเลเยอร์ด ไดอัล) ที่ฉลุเป็นร่อง โดยภายในถูกเคลือบด้วยสีที่ต่างเฉดกัน รวมไปถึงบริเวณของขอบฉลุ เพื่อให้เกิดมิติของแสงที่แตกต่าง ซึ่งเฉดของสีในร่องฉลุจะเปลี่ยนไปตามมุมมองในแต่ละองศา ส่วนหลักชั่วโมงและเข็มเป็นงานออกแบบใหม่ทั้งหมดในทรงแท่งปลายมนสีเงิน หรือสีทองในรุ่นหน้าปัดดำล้วน ซึ่งเคลือบด้วยสารเรืองแสง ‘Super-LumiNova’ (ซูเปอร์ลูมิโนวา) เกรด ‘A1’ (เอวัน) สีขาว หรือสีดำในเอดิชั่นผลิตจำนวนจำกัด โดยขอบข้างหน้าปัดหรือ ‘Rehuat’ (เรโอต์) แบบตั้งฉากตกแต่งด้วยสเกลเวลา 60 นาที และจัดแสดงเวลาแบบ 3 เข็ม พร้อมการแสดงวันที่ด้วยตัวเลขอารบิกสีขาวสไตล์ทันสมัย บนจานดิสก์สีดำภายในช่องหน้าต่างที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา

 

แน่นอนว่ากลไกของรุ่นนี้ต้องเป็นกลไกชุดใหม่ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดย ‘Chronode SA’ ดังนั้นจึงมีรูปแบบและกลิ่นอายสวิส ต่างจากรุ่นก่อนหน้าที่เป็นงานสร้างสรรค์สไตล์เยอรมัน จักรกลชุดนี้เป็นกลไกออโตเมติก Cal.LA-3001 ที่ผลิตในสวิตเซอร์แลนด์ โดยมอบความเที่ยงตรงอันน่าประทับใจด้วยอัตราคลาดเคลื่อนเพียง -4 ถึง +6 วินาที/วัน เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง ติดตั้งทับทิมกันสึก 35 เม็ด และสามารถสำรองพลังงานได้นาน 60 ชั่วโมง ขณะที่งานฟินิชิงก็ทำได้อย่างน่าประทับใจ โดยแท่นเครื่องและสะพานจักรเคลือบเป็นสีเทาด้วยเทคนิค ‘Galvanic Rhuthenium’ (กัลวานิก รูเธเนียม) กับการทำผิวแบบพ่นทรายสลับกับงานขัดเงาบริเวณขอบอย่างมีมิติ ประทับข้อความ ‘Swiss Made’ (สวิส เมด) เพื่อรับรองมาตรฐานงานจักรกลสไตล์สวิส โรเตอร์ขึ้นลานแบบฉลุโปร่ง สลักชื่อ Leica ไว้อย่างโดดเด่น ทั้งหมดนี้สามารถชื่นชมได้ทางฝาหลังคริสตัลแซพไฟร์ พร้อมขอบวงแหวนสีดำที่ตกแต่งด้วยข้อความของแบรนด์และคุณสมบัติต่างๆ ของนาฬิกา อันได้แรงบันดาลใจมาจากขอบฟิลเตอร์ของเลนส์กล้อง

 

ในส่วนของสาย มาให้เลือกทั้งสายยาง สายยางบุผ้าทอ และสายวัสดุชนิดเดียวกับตัวเรือน โดยส่วนของขาสายถูกออกแบบให้สามารถสลับเปลี่ยนสายได้อย่างง่ายดายด้วยระบบ ‘Leica Easy Change’ (ไลกา อีซี เชนจ์) เพียงแค่กดปุ่มสีแดงบริเวณใต้ขาสาย เช่นเดียวกับปุ่มปลดเลนส์ของกล้อง Leica โดยมีกำหนดวางจำหน่าย ZM11 ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่บูติก Leica บางสาขา และจะวางจำหน่ายในทุกสาขาแบบ 100% ตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้าเป็นต้นไป ในราคา 6,775 ถึง 8,150 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ราว 250,000 ถึง 300,000 บาท

SEIKO JUNE 23 CONTENT RGT
Luxe Time Pop Up