by: ‘TomyTom’
หากติดตามเรื่องราวในแวดวงนาฬิกา ก็คงทราบกันอยู่แล้วว่า แบรนด์อิสระชื่อก้อง MB&F (เอ็มบีแอนด์เอฟ) ได้ออกไลน์นาฬิกาภายใต้ชื่อ M.A.D.Editions (เอ็มเอดีเอดิชั่นส์) มาสู่วงการอีกแบรนด์หนึ่ง โดยวางสถานะเป็นนาฬิกาอิสระทั้งกายและจิตที่มีต้นทุนไม่สูงนัก หากแต่เมื่อสร้างรุ่นแรกที่ให้ชื่อว่า M.A.D.1 (เอ็มเอดีวัน) ในปี 2021 นั้นมิได้ขายให้กับบุคคลทั่วไป แต่มอบสิทธิ์ในการซื้อหาให้กับเฉพาะเหล่าพันธมิตรผู้มีส่วนในการผลิตและสร้างนาฬิกา MB&F ซึ่งเรียกว่า ‘The Friends’ (เดอะ เฟรนด์ส) และบรรดาลูกค้าที่เคยซื้อนาฬิกา MB&F แล้ว ซึ่งเรียกว่า ‘The Tribe’ (เดอะ ไทรบ์) เพื่อแสดงความขอบคุณที่เขาเหล่านั้นมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนจนทำให้ MB&F ที่เพิ่งเริ่มนับอายุขัยเมื่อปี 2005 มีสถานะมั่นคงอยู่ในโลกนาฬิกาภายในระยะเวลาอันสั้น ต่อมาในปี 2022 จึงได้เริ่มผลิตออกจำหน่ายด้วยการเปิดตัวเอดิชั่น M.A.D.1 Red (เอ็มเอดีวัน เรด) โดยวางตนเป็นนาฬิกาที่มีจิตวิญญาณแห่ง MB&F แต่มีค่าตัวไม่สูงนัก และมาถึงปี 2023 นี้ก็ได้ฤกษ์ออกเอดิชั่นใหม่ ให้ชื่อว่า M.A.D1 Green (เอ็มเอดีวัน กรีน)
จากสีน้ำเงินของเอดิชั่นแรก สู่สีแดงของเอดิชั่น 2 ซึ่งคว้ารางวัลท้าทาย ‘Challenge Prize’ (ชาลเลนจ์ ไพรซ์) จาก ‘GPHG 2022’ มาครอง มาถึงเอดิชั่นที่ 3 นี้ สีที่ถูกเลือกก็คือสีเขียว โดยพื้นฐานหลักยังคงตั้งอยู่บนดีไซน์และคุณสมบัติของเอดิชั่นที่ 2 ก็คือดีไซน์ตัวเรือนขนาด 42.0 มิลลิเมตร ซึ่งขอบตัวเรือน ตัวเรือนชิ้นบน และฐานตัวเรือนทรงแคร่รูปอักษร ‘X’ เป็นสเตนเลสสตีลผิวขัดเงาสลับปัดลาย เม็ดมะยมขนาดใหญ่จับหมุนถนัดมือที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา และมีส่วนตัวเรือนเป็นกระจกมิเนอรัล การแสดงเวลาทางด้านข้างของนาฬิกา โดยมีตัวเลขสลักบนกระบอกวงชั่วโมงกับวงนาทีทำจากอะลูมิเนียมที่เติมร่องด้วยสารเรืองแสง ‘Super-LumiNova’ (ซูเปอร์ลูมิโนวา) สีขาวแสงเขียว ซึ่งกำหนดตำแหน่งให้อ่านค่าเวลา ณ 6 นาฬิกา ตรงแท่นขาห้าเหลี่ยมเคลือบสารเรืองแสงสีขาวแสงเขียว ไปจนถึงแถบสารเรืองแสงสีขาวแสงเขียวที่เป็นแนวเส้นโค้ง 3 แถบ บนร่องสลักที่โรเตอร์ไทเทเนียมฉลุโปร่งทรงใบมีด 3 แฉก ที่ถ่วงน้ำหนักด้วยทังสเตน ซึ่งวางตำแหน่งอยู่ด้านหน้าของนาฬิกา ภายใต้กระจกหน้าปัดแซพไฟร์คริสตัลทรงโดม ที่ทำให้ตัวเรือนมีความหนาโดยรวมเป็น 18.8 มิลลิเมตร สามารถกันน้ำได้ 3 เอทีเอ็ม (เทียบเท่า 30 เมตร)
สำหรับกลไกที่ใช้ก็ยังคงถูกโมดิฟายด์ปรับเติมเสริมแต่งบนพื้นฐานของกลไกอัตโนมัติขึ้นลานทิศทางเดียว ความถี่ 21,600 ครั้ง/ชั่วโมง สำรองพลังงานได้ 60 ชั่วโมง Cal.821A จาก ‘Miyota’ (มิโยตะ) ที่ตกแต่งมาอย่างเรียบง่ายด้วยการเคลือบเป็นสีเข้ม การปัดลายประกายแสงอาทิตย์ และการแต่งลายริ้วแถบสไตล์เจนีวา ซึ่งก็ต้องบอกว่านี่อาจถือเป็นการตอกย้ำว่า ผู้ผลิตนาฬิกาสวิสนั้นยอมรับในคุณภาพของกลไกจากผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่น ‘Miyota’ ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของกลุ่ม ‘Citizen’ (ซิติเซน) โดยดุษณี
จุดที่ต่างไปจาก M.A.D.1 Red ก็คือ การเปลี่ยนสีเคลือบฐานบรรจุกลไกที่เป็นสเตนเลสสตีล และวงแหวนบอกเวลาจากสีแดงเชอร์รี่มาเป็นสีเขียวมินต์ แต่มีการสลับตำแหน่งสีจากเดิมที่สีแดงเชอร์รี่ถูกใช้กับวงแหวนนาที โดยมีวงแหวนชั่วโมงเป็นสีดำ มาเป็นใช้สีเขียวมินต์กับวงแหวนชั่วโมง และใช้สีดำกับวงแหวนนาที ขณะที่สายนาฬิกาซึ่งยังคงเป็นหนังวัวสีดำปั๊มแต่งลายคล้ายเนื้อผ้า และฉลุเป็นรูกลมขนาดใหญ่นั้นก็ถูกเย็บตกแต่งด้วยด้ายสีเขียว โดยมีตัวล็อกเป็นแบบบานพับสเตนเลสสตีลเช่นเดิม
พร้อมกับการเปิดตัว M.A.D.1 Green ก็ถือเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการด้วยว่า การผลิต M.A.D.1 Red ได้จบสิ้นลงไปแล้วอย่างสมบูรณ์ ด้วยการผลิต 2 ชุด ชุดละ 1,500 เรือน รวมเป็น 3,000 เรือน ส่วนในเรื่องวิธีการได้มาไว้ในครอบครองนั้น ยังคงยึดแนวทางเดียวกับ M.A.D.1 Red นั่นก็คือการสุ่มจับสลาก โดยต้องเข้าไปรับสิทธิ์จับสลากที่ https://shop.madgallery.ch/ ซึ่งเป็นอี-ช็อปของ ‘MB&F M.A.D’Gallery’ (เอ็มบีแอนด์เอฟ เอ็มเอดี แกลเลอรี) ซึ่งหนนี้กำหนดเวลาไว้ 2 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน ถึง 26 กันยายน 2023 จากนั้นก็จะจับสลากและประกาศให้ทราบในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2023 ว่าใครได้สิทธิ์บ้าง โดยกำหนดสิทธิไว้เพียงคนละ 1 เรือน เช่นเดียวกับ M.A.D.1 Red ส่วนสนนราคาก็ยังตั้งไว้ที่ 2,900 ฟรังก์สวิส หรือราว 116,000 บาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เท่าเดิม กับจำนวนการผลิตที่กำหนดไว้ 1,500 เรือน โดยการส่งมอบจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 ไป จนถึงเดือนเมษายน 2024 สิ่งที่ต้องคอยดูก็คือ จำนวนผู้มีสิทธิร่วมลุ้นที่ชื่อไม่ซ้ำและคัดบอทออกไปแล้วในครั้งใหม่นี้จะทำลายสถิติมากกว่า 19,000 ราย ในชุดแรก และ 22,000 ราย ในชุดที่ 2 ของเอดิชั่นก่อนหรือไม่