by: ‘Mr.Big’
ปี 1954 แบรนด์เก่าแก่ Mido (มิโด) เปิดตัวกลไกขึ้นลานอัตโนมัติชุดใหม่ที่มีชื่อว่า ‘Powerwind’ (เพาเวอร์วินด์) ซึ่งใช้ชิ้นส่วนในการประกอบเพียง 7 ชิ้นขึ้นไป แต่ไม่เกิน 16 ชิ้น โดยเป็นผลงานที่ได้รับการพัฒนาภายใต้ความร่วมมือกับ ‘A. Schild SA’ (อา ชิลด์ แอสอา) พันธมิตรที่ร่วมงานกับ Mido มายาวนาน ผลจากการคิดค้นดังกล่าว ช่วยสร้างประโยชน์ด้านการซ่อมบำรุงที่ทำได้ง่ายขึ้น และยังลดโอกาสผิดพลาดจากการทำงานได้อย่างดีเยี่ยม ช่วยลดการสึกหรอ ทำให้กลไกการสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกลไกชุดดังกล่าวถูกเดบิวท์มาพร้อมกับคอลเลกชั่น Multifort (มัลติฟอร์ต) ที่มีอายุครบ 20 ปี ในปีนั้นพอดี และก็ได้กลายเป็นหนึ่งในรุ่นที่ขายดีในยุคสมัย รวมถึงยังเป็นที่ต้องการในกลุ่มคนรักนาฬิกาวินเทจ ณ ปัจจุบัน
เพื่อเป็นการรำลึกถึงเกียรติประวัติดังกล่าว ปีนี้ Mido จึงสร้างสรรค์เรือนเวลารุ่นพิเศษ Multifort Powerwind Chronometer Limited Edition (มัลติฟอร์ต เพาเวอร์วินด์ โครโนมิเตอร์ ลิมิเต็ด เอดิชั่น) ด้วยจำนวนจำกัดเพียง 1,954 เรือน ตามเลขปีที่นาฬิการุ่นดังกล่าวปรากฏโฉมขึ้นครั้งแรก โดยนาฬิการุ่นพิเศษนี้ สะท้อนความงามสง่าภายใต้งานดีไซน์ของ Multifort สมัยใหม่ เจือด้วยกลิ่นอายเรโทรคลาสสิกเล็กน้อย แต่ไม่ได้อ้างอิงรูปแบบดั้งเดิมเท่าไรนัก ตัวเรือนสร้างสรรค์จากสเตนเลสสตีล ขนาด 40.0 มิลลิเมตร หนา 12.0 มิลลิเมตร และมีความกว้างระหว่างขาสาย 19.0 มิลลิเมตร พร้อมความสามารถในการกันน้ำที่ 50 เมตร กรุด้วยกระจกหน้าปัดชนิดคริสตัลแซพไฟร์ทรงกล่องตามแบบฉบับ Multifort ยุคอดีต เคลือบด้วยสารกันการสะท้อน
พื้นหน้าปัดรังสรรค์ในสีน้ำเงินเฉด ‘Midnight Blue’ (มิดไนท์ บลู) ขัดลายปัดด้านในรูปแบบ ‘Sunburst’ (ซันเบิรสต์) ตัดด้วยรายละเอียดต่างๆ สีทองกุหลาบ เริ่มจากขอบหน้าปัดที่ตกแต่งด้วยแทร็คเวลาแบบถี่ ความละเอียด 1/5 วินาที ดีไซน์หลักชั่วโมงแบบสามเหลี่ยมยาว ไม่ได้ใช้ทรงแท่งอย่างรุ่นดั้งเดิม เช่นเดียวกับเข็มที่ปรับรูปทรงมาเป็นทรงลูกดิ่งปลายแหลม และเข็มวินาทีทรงขั้วดอกบัว สิ่งที่น่าสนใจคือโลโก้ Mido พร้อมชื่อรุ่น Multifort ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา และชื่อ Powerwind เหนือตำแหน่ง 6 นาฬิกา ที่จัดวางอย่างสมดุลย์ และดีไซน์ตามลักษณะของรุ่นในอดีต แต้มด้วยสารเรืองแสง ‘Super-LumiNova’ (ซูเปอร์ลูมิโนวา) สีขาวช่วงกลางเข็มและที่จุดหลังหลักชั่วโมง เพื่อเพิ่มความชัดเจนในการอ่านเวลา และเจาะช่องหน้าต่างทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่บริเวณ 3 นาฬิกา สำหรับการจัดแสดงวันที่และวันไปพร้อมๆ กัน
ด้านการทำงานไม่ได้ใช้ชุดกลไก ‘Powerwind’ แต่อย่างใด แต่เป็นการขับเคลื่อนด้วยกลไกออโตเมติก Cal.ETA 2836-2 ที่ปรับจูนคุณภาพจนสามารถรักษาระดับความเที่ยงตรงตามมาตรฐานโครโนมิเตอร์ และผ่านการรับรองจากสถาบัน COSC ถือเป็นการให้เกียรติกับการทำงานที่แม่นยำและความน่าเชื่อถือของ Powerwind รุ่นเก่า ตัวกลไกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 25.6 มิลลิเมตร ติดตั้งทับทิมกันสึก 25 เม็ด จุพลังงานสำรองได้ 38 ชั่วโมง ประกอบกับสายสเตนเลสสตีลที่ดีไซน์ส่วนข้อกลางเป็นข้อทรงเม็ดข้าว 5 แถว ขัดมันบนผิวหน้าเพื่อให้เล่นกับแสง โดยมากับตัวล็อกสายแบบพับทบ ตั้งราคาจำหน่ายเอาไว้ที่ 44,000 บาท