by: ‘Mr.Big’
เมื่อพูดถึงแบรนด์สัญชาติเยอรมันอย่าง Junghans (ยุงฮานส์) หลายคนคงนึกภาพนาฬิกาดีไซน์เรียบเก๋ ใช้องค์ประกอบของเส้นสายทางเรขาคณิต ผสานออกมาในสไตล์ ‘Bauhaus’ (บาวเฮาส์) ซึ่งถือว่าเป็นซิกเนเจอร์ด้านบุคลิกของแบรนด์ที่ล้วนปรากฏอยู่กับทั้งคอลเลกชั่นแนวเดรส รวมไปถึงคอลเลกชั่นสายสปอร์ตอย่าง Chronoscope (โครโนสโคป) แต่เงื่อนไขเหล่านั้นคงเป็นข้อยกเว้นสำหรับ Meister Pilot (ไมสเตอร์ ไพลอท) นาฬิกานักบินที่มีหน้าตาแปลกไปกว่าคอลเลกชั่นอื่นๆ ของแบรนด์ ด้วยความที่เป็นคอลเลกชั่นที่มีประวัติอันยาวนานและน่าสนใจ
ก่อนที่ Junghans จะเข้าสู่ยุคการออกแบบของ Max Bill ผู้ที่นำอิทธิพลงานออกแบบสไตล์ ‘Bauhaus’ มาใช้กับแบรนด์จนกลายเป็นอัตลักษณ์มาจนทุกวันนี้ ในช่วงยุค 30s ได้ถูกเกณฑ์ให้เป็นผู้ผลิตแผงควบคุมภายในห้องเครื่องบิน และนาฬิกาสำหรับนักบิน ป้อนให้กับกองทัพนาซีของจักรวรรดิเยอรมัน จนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม Junghans จึงได้กลับมายืนอยู่ในฐานะผู้ผลิตนาฬิกาคุณภาพสูงอีกครั้ง ในขณะที่ก็มีประสบการณ์ในการผลิตนาฬิกานักบินอย่างเต็มเปี่ยม และนั่นทำให้ Junghans นำเสนอคอลเลกชั่น Meister Pilot เป็นครั้งแรก ในฐานะนาฬิกานักบินของแบรนด์ที่สร้างสรรค์จากประสบการณ์จริง และเป็นคอลเลกชั่นนักบินเพียงหนึ่งเดียวของแบรนด์ตลอดช่วงที่ผ่านมา และปี 2023 นี้ก็มีความยินดีที่จะแนะนำสมาชิกใหม่อีกครั้งใน 2 รูปแบบ ที่คุณต้องตกหลุมรัก
มรดกด้านการออกแบบอันปราศจากอิทธิพลของ Max Bill คอลเลกชั่นนี้ นำเสนอมาใน 2 รุ่นย่อย ได้แก่ Meister Pilot ที่เป็นฟังก์ชันบอกเวลาและวันที่ตามปกติ และ Meister Pilot Chronoscope ที่เสริมด้วยฟังก์ชันจับเวลา ทั้ง 2 รุ่น นำเสนอมากับตัวเรือนสเตนเลสสตีลที่เคลือบเป็นสีเข้มด้วยเทคนิค DLC โดดเด่นในดีไซน์ตัวเรือนขนาดใหญ่ตามแบบฉบับนาฬิกานักบิน แต่มีขนาดที่แตกต่างกันเล็กน้อย โดย Meister Pilot จัดมาด้วยขนาด 43.3 มิลลิเมตร หนา 12.5 มิลลิเมตร ส่วน Meister Pilot Chronoscope มีขนาด 43.4 มิลลิเมตร หนา 14.4 มิลลิเมตร ในขณะที่ขอบตัวเรือนถูกปาดเป็นรอยเว้า 12 มุม สามารถปรับหมุนได้ทั้ง 2 ทิศทาง และตกแต่งด้วยสเกเวลา 60 นาที โดยเหตุผลที่ดีไซน์ขอบตัวเรือนลักษณะนี้ ไม่ใช่แค่การทำให้มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเอื้อประโยชน์ในการใช้งาน เพราะทำให้ปรับหมุนได้ง่ายสำหรับนักบินที่ต้องสวมถุงมืออยู่ตลอดเวลา แต่ถึงจะได้ชื่อว่านาฬิกานักบิน แต่ก็มาพร้อมความสามารถในการกันน้ำระดับ 100 เมตร ใช้กระจกหน้าปัดชนิดคริสตัลแซพไฟร์ทรงโค้ง เคลือบสารตัดแสงสะท้อนทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนฝาหลังสลักเป็นสัญลักษณ์เครื่องบินใบพัด
หน้าปัดสร้างความแตกต่างจากรุ่นก่อนหน้าด้วยการใช้เอฟเฟ็กต์ ‘Gradient’ (แกรเดียนท์) หรือการไล่ระดับสี ทำให้เกิดอารมณ์ที่สวยงามแตกต่างไปจากรุ่นเดิมอยู่มาก นอกจากนั้น ด้วยระนาบของพื้นหน้าปัดที่มีลักษณะโค้งทรงโดม บวกกับงานเคลือบแลคเกอร์บนพื้นผิว ก็มีส่วนช่วยให้การตกกระทบของแสงเกิดมิติที่สวยงามมากขึ้น โดยนำเสนอมาใน 2 เฉดสี ได้แก่สีน้ำเงิน ‘Navy Blue’ (เนวี บลู) ที่ไล่ระดับจากโทนสว่าง ณ ศูนย์กลาง เป็นยังโทนเข้มบริเวณรอบขอบ และสีเทา ‘Desert’ (เดเสิร์ท) ที่ไล่ระดับความสว่างของสีในรูปแบบเดียวกัน โดยสีเทานี้จะมีเฉพาะรุ่น Meister Pilot Chronoscope เท่านั้น ส่วนรายละเอียดการตกแต่งก็ดูเหมือนว่าจะตัดขาดสไตล์ ‘Bauhaus’ ที่เป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ไปอย่างสิ้นเชิง และถูกแทนที่ด้วยสไตล์สปอร์ตที่ไม่ดูคลาสสิก แต่ดูมีความร่วมสมัยมากกว่า เส้นสายที่ใช้แทนหลักชั่วโมงอันเป็นสไตล์ที่คุ้นตาของ Junghans ถูกเปลี่ยนมาใช้ตัวเลขอารบิกขนาดใหญ่ รวมถึงเข็มชั่วโมง นาที ที่ออกแบบมาในทรงดาบ ก็รังสรรค์มาให้มีขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน โดยทั้งเข็มและตัวเลขอารบิกล้วนเคลือบสารเรืองแสงสีขาว เพื่อความสะดวกในการอ่านค่าในที่มืด และเพิ่มความคมชัดในการดูเวลา อันถือเป็นหนึ่งในปัจจัยของนาฬิกานักบินที่ดี
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือเฉพาะนาฬิกาคอลเลกชั่นนี้ จะใช้โลโก้แบรนด์รูปแบบตัวเขียนที่ดูคล้ายลายเซ็น แตกต่างจากคอลเลกชั่นอื่นๆ ที่จะเป็นอักษรตัวพิมพ์พร้อมรูปดาวตามปกติ โดยทั้ง 2 รุ่น จัดวางโลโก้ในตำแหน่งที่แตกต่างกัน โดย Meister Pilot Chronoscope ถูกวางไว้ใต้ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ส่วน Meister Pilot ย้ายมาไว้ข้างตำแหน่ง 9 นาฬิกา เพื่อเปิดทางให้มีการเจาะช่องหน้าต่างทรงโค้ง เพื่อแสดงวันที่ในรูปแบบ 3 วัน โดยจัดแสดงควบคู่ไปกับการบอกเวลาแบบ 2 เข็มครึ่ง ซึ่งแยกค่าวินาทีไปไว้ในหน้าปัดย่อยสีดำด้านที่ 6 นาฬิกา ควบคุมการทำงานด้วยกลไกออโตเมติก Cal.J880.1.6 ที่ปรับแต่งเพิ่มเติมจากเครื่อง ETA และมีค่าสำรองพลังงานที่ 38 ชั่วโมง
ในขณะที่ Meister Pilot Chronoscope จะไม่มีวันที่ และวางเลย์เอาท์หน้าปัดย่อยแบบ ‘Bi-compax’ (ไบคอมแพ็กซ์) เพื่อแสดงเวลาแบบ 2 เข็มครึ่ง และจับเวลาผ่านเข็มวินาทีหลัก ร่วมกับการแสดงค่าจับเวลา 30 นาที ที่หน้าปัดย่อยตำแหน่ง 9 นาฬิกา ทำงานด้วยกลไกออโตเมติกโครโนกราฟ Cal.J880.4 ที่พัฒนาขึ้นมาจาก Cal.ETA 2824 พร้อมติดตั้งโมดูลโครโนกราฟ ‘Dubois Dépraz 2030’ (ดูบัวส์ เดปราซ์ 2030) โดยมีอัตราสำรองพลังงานที่ 38 ชั่วโมง เช่นเดียวกัน ทั้ง 2 แบบ ประกอบกับสายหนังสไตล์นักบินในสีที่เข้ากับสีหน้าปัด ผลิตให้เป็นเจ้าของกันแบบไม่จำกัดจำนวน ยกเว้น Meister Pilot Chronoscop รุ่นหน้าปัดสีน้ำเงินที่มีมาให้แย่งกันเป็นเจ้าของแค่ 300 เรือน โดยตั้งราคาสำหรับ Meister Pilot Chronoscop ทั้ง 2 สีที่ 2,590 ยูโร หรือราวๆ 1 แสนบาท เท่ากัน และ 1,990 ยูโร หรือประมาณ 77,000 บาท สำหรับ Meister Pilot