UN HEADER 23
UN HEADER 23
Home Articles OMEGA OLYMPIC 1932 CHRONO CHIME & SPEEDMASTER CHRONO CHIME - 2 รุ่นสุดพิเศษ...

OMEGA OLYMPIC 1932 CHRONO CHIME & SPEEDMASTER CHRONO CHIME – 2 รุ่นสุดพิเศษ กับกลไกที่ซับซ้อนที่สุดของแบรนด์

by: ‘TomyTom’

 

Omega (โอเมก้า) ประกาศศักดาในฐานะผู้ผลิตนาฬิกาความซับซ้อนสูงอีกครั้ง ด้วยการหยิบมรดกเก่าแก่ของแบรนด์ ได้แก่นาฬิกาข้อมือ ‘Minute Repeater’ (มินิท รีพีทเตอร์) เรือนแรกของโลกที่ตนผลิตขึ้นในปี 1892 มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน ด้วยการผสานฟังก์ชัน ‘Minute Repeater’ รวมเข้าไว้กับกลไกโครโนกราฟ ผลลัพธ์ที่ได้ถูกตั้งชื่อว่า ‘Chrono Chime’ (โครโน ไชม์) และเปิดตัวอย่างอลังการด้วยนาฬิกา 2 รุ่น คือ Olympic 1932 Chrono Chime (โอลิมปิก ไนน์ทีนเธอร์ตีทู โครโน ไชม์) จากคอลเลกชั่น ‘Specialties’ (สเปเชียลตีส์) และ Speedmaster Chrono Chime Co-Axial Master Chronometer Chronograph 45 mm (สปีดมาสเตอร์ โครโน ไชม์ โคแอกเซียล มาสเตอร์ โครโนมิเตอร์ โครโนกราฟ 45 มิลลิเมตร) ที่จัดอยู่ในกลุ่ม ‘Speedmaster Two Counters’ (สปีดมาสเตอร์ ทู เคาน์เตอร์ส)

MITSUBISHI

 

พระเอกในที่นี้ก็คือ คาลิเบรอที่ใช้กับนาฬิกา 2 รุ่นนี้ ซึ่งให้ชื่อเต็มๆ ยาวๆ ว่า ‘Co-Axial Master Chronometer Cal.1932’ (โคแอกเซียล มาสเตอร์ โครโนมิเตอร์ คาลิเบรอ ไนน์ทีนเธอร์ตีทู) ความเหนือชั้นอยู่ที่มันเป็นกลไก ‘In-house’ (อินเฮาส์) แบบไขลานพร้อมระบบปล่อยจักรแบบ ‘Co-Axial’ ที่พัฒนาขึ้นใหม่ โดยเป็นการผสานรวมที่เรียกว่า ‘Integrated’ (อินทีเกรเตด) โดยเอากลไกโครโนกราฟ และกลไก ‘Minute Repeater’ ประสานลงในตัวกลไกบอกเวลาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มิใช่เป็นกลไกที่ติดตั้งโมดูลเพิ่มเข้าไป นั่นทำให้กินเวลาในการพัฒนานานถึง 6 ปี เลยทีเดียว นี่จึงเป็นกลไกที่มีความซับซ้อนที่สุดเท่าที่ Omega เคยผลิตมา โดยเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของนักประดิษฐ์นาฬิกาแห่ง Omega และ Blancpain (บลองแปง) อันเป็นแบรนด์ร่วมกลุ่ม ‘Swatch Group’ (สวอทช์ กรุ๊ป)

 

Cal.1932 ทำงานด้วยความถี่สูง 36,000 ครั้ง/ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปเพื่อให้สามารถจับเวลาได้ที่ความละเอียด 1/10 วินาที เช่นเดียวกับนาฬิกาพกจับเวลาที่ใช้จับเวลาการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1932 โดยกลไกชุดนี้จับเวลาได้สูงสุด 15 นาที แสดงด้วยเข็มขนาดเล็ก และมีเข็มขนาดเล็กอีกหนึ่งสำหรับแสดงเวลาเป็นวินาที ทั้งยังมีฟังก์ชัน ‘Split-seconds’ (สปลิตเซกันด์ส) มาด้วย โดยปุ่มกดที่มีอยู่ 3 ปุ่ม คือปุ่มกดโครโนกราฟแบบปุ่มเดียว ปุ่ม ‘Split-seconds’ และปุ่ม ‘Minute Repeater’ ปุ่มกดโครโนกราฟอยู่ร่วมแกนเดียวกับเม็ดมะยม ข้างๆ เม็ดมะยมจะเป็นปุ่ม ‘Split-seconds’ และฝั่งทแยงอีก 1 ปุ่ม นั้นเป็นปุ่มสั่งการ ‘Minute Repeater’ และแน่นอนว่าต้องสามารถต้านทานสนามแม่เหล็กได้ถึง 15,000 เกาส์ ตามบัญญัติแห่งมาตรฐาน ‘Master Chronometer’ ของ ‘METAS’ (เมตาส) ตลอดจนผ่านการทดสอบความเที่ยงตรงตามเกณฑ์โครโนมิเตอร์ของ COSC มาก่อนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

เสียง ‘Chime’ (ไชม์) หรือเสียงตีบอกเวลาของกลไก ‘Minute Repeater’ ที่ขานเวลาถึงระดับนาที นี้เกิดขึ้นจากชุดค้อนคู่วางตำแหน่งดูคล้ายปีกที่ทำจากทอง ‘Sedna’ (เซดนา) 18K ทองกุหลาบสูตรเฉพาะของ Omega ที่คงสภาพสีไว้ได้ยาวนานไม่ซีดจาง ด้วยส่วนผสมของทองแดงและพัลลาเดียม ตีกระทบกับลวดเสียง โดยใช้พื้นที่ภายในตัวเรือนช่วยให้เกิดเสียงกังวานไพเราะ โดยชุดค้อนคู่นี้จะขนาบอยู่ 2 ฝั่ง ของหน้าปัดบอกวินาที ซึ่งเปิดช่องที่หน้าปัดให้มองเห็นการขยับตีได้ชัดๆ สำหรับการทำงานตามปกติของกลไกนั้น จะให้พลังงานสำรองได้ถึง 60 ชั่วโมง ส่วนงานตกแต่งชิ้นส่วนกลไกก็กระทำได้น่าประทับใจ โดยสร้างลักษณะเปรียบต่างสูงด้วยผิวปัดลายซาตินบนพื้นที่หลักสลับกับผิวขัดเงาดุจกระจกที่สันขอบ ทั้งยังเป็นงานที่กระทำด้วยมือ นอกจากนี้ยังมีการใช้ชิ้นส่วนกลไกที่ทำจากทองคิดเป็นน้ำหนักรวมถึง 46.44 กรัม ด้วย แน่นอนว่างานตกแต่งเหล่านี้สามารถมองเห็นได้ผ่านฝาหลังแซพไฟร์คริสตัล

 

ดีไซน์ของ 1932 Olympic Chrono Chime สร้างขึ้นบนพื้นฐานลักษณะของนาฬิกาพกจับเวลาของ Omega ที่ใช้ในการจับเวลาการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ลอสแองเจลิสปี 1932 สร้างตัวเรือนขนาด 45.0 มิลลิเมตร หนา 16.9 มิลลิเมตร ขึ้นจากทอง ‘Sedna’ 18K ผนึกด้วยกระจกหน้าปัดแซพไฟร์คริสตัลทรงโดมเคลือบสารกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ฝั่ง โดยกันน้ำได้ 3 บาร์ และมากับหน้าปัดสีขาวที่เป็นการลงยาด้วยเทคนิค ‘Grand Feu’ (กรองด์ เฟอ) ลงหลักชั่วโมงเลขอารบิกฟอนต์คลาสสิกสีดำ ด้วยความที่ใช้ดีไซน์แบบนาฬิกาพก ตำแหน่งเม็ดมะยมจึงจัดวางไว้ที่ 12 นาฬิกา ทำให้วงหน้าปัดย่อยทั้ง 2 มีตำแหน่งอยู่ที่ 12 และ 6 นาฬิกา โดยพื้นหน้าปัดย่อยทั้ง 2 สวยงามแปลกตาด้วยการใช้เงิน 925 แต่งลาย ‘Guilloché’  (กิโยเช) เป็นลายคลื่นเสียง เพื่อให้พ้องกับการเป็นนาฬิกาที่เปล่งเสียงได้เช่นเดียวกับวงขอบหน้าปัด และบนหน้าปัดก็เปิดช่องให้มองเห็นค้อนคู่ได้อย่างชัดเจน ปิดท้ายด้วยการเสริมเสน่ห์และเพิ่มความชัดเจนในการอ่านค่าจากการเคลือบเข็มทั้งหมดให้เป็นสีน้ำเงิน เว้นแต่เข็ม ‘Split-seconds’ ที่เคลือบเป็นสีแดงเงา สอดคล้องกับโลโก้แบรนด์บนหน้าปัด ขณะที่สเกลต่างๆ ใช้เป็นสีดำทั้งหมด ส่วนปุ่มกดอีก 2 ปุ่มนอกจากปุ่มที่เม็ดมะยมแล้ว จะอยู่ที่ 11 กับ 5 นาฬิกา ซึ่งปุ่มสั่งการ ‘Minute Repeater’ สลักนูนเป็นรูปโน้ตดนตรี ขณะที่ปุ่ม ‘Split-seconds’ ตกแต่งด้วยเส้นวงแหวนไฮบริดเซรามิกสีแดงสอดคล้องกับเข็ม ‘Split-seconds’

 

บนแนวขอบฝาหลังของรุ่นนี้มีการสลักข้อความแสดงศักดิ์ศรี ‘Official Timekeeper Olympic Games’ (ออฟฟิเชียล ไทม์คีพเปอร์ โอลิมปิก เกมส์) เอาไว้ด้วย สำหรับสายที่ติดตั้งมาเป็นหนังจระเข้สีน้ำตาลพร้อมตัวล็อกหัวเข็มขัดทอง ‘Sedna’ 18K โดยมีระบบถอดเปลี่ยนสาย ‘Quick-change’ (ควิกเชนจ์) แบบใหม่ติดตั้งมาด้วย โดยนาฬิกาจะมีสายหนังมาให้สลับเปลี่ยน 1 เส้น และสายหนังแบบเส้นยาวอีก 2 เส้น ซึ่งทำให้สามารถปรับเปลี่ยนจากนาฬิกาข้อมือไปเป็นนาฬิกาพกหรือนาฬิกาจับเวลาสำหรับคล้องคอได้ด้วย

 

สำหรับ Speedmaster Chrono Chime นั้นนำลักษณะดีไซน์ของ CK 2998 อันเป็น Speedmaster เจเนอเรชั่นที่ 2 จากปี 1962 มาใช้ โดยตัวเรือนเป็นทอง ‘Sedna’ 18K กับขนาด 45.0 มิลลิเมตร หนา 17.3 มิลลิเมตร ผนึกกระจกหน้าปัดแซพไฟร์คริสตัลที่เคลือบสารกันแสงสะท้อนมาทั้ง 2 ฝั่ง และกรุฝาหลังด้วยแซพไฟร์คริสตัล ทำให้กลายเป็น Speedmaster เรือนโต การกันน้ำกระทำได้ 3 บาร์ กลไกที่ใช้ในรุ่นนี้ถูกหันเม็ดมะยมมาอยู่ที่ 3 นาฬิกา ซึ่งทำให้ปุ่มกดอีก 2 ปุ่ม มาอยู่ที่ตำแหน่ง 2 กับ 8 นาฬิกา และวงหน้าปัดย่อยทั้ง 2 ก็มาอยู่ที่ 3 กับ 9 นาฬิกา จึงยังคงดูเป็นนาฬิกา Speedmaster อย่างชัดแจ้ง แต่รับรู้ได้ถึงความพิเศษในทันทีที่ได้เห็น จากปุ่มกดที่มี 3 ปุ่ม แถมยังแต่งรายละเอียดด้วยวงแหวนเซรามิกไฮบริดสีแดงบนปุ่ม ‘Split-seconds’ และค้อนคู่ที่ขนาบวงหน้าปัดวินาทีอยู่ซึ่งเปิดช่องให้มองเห็นได้อย่างเต็มตา

 

หน้าปัดของ Speedmaster สุดพิเศษรุ่นนี้เป็นงานลงยาด้วยเทคนิค ‘Grand Feu’ ให้เป็นสีน้ำเงินเข้มที่มีประกายโลหะอยู่ภายใน ดูคล้ายแก้ว ‘Aventurine’ (อะเวนจูรีน) ทั้งยังใช้ลักษณะเดียวกันนี้กับแผ่นวงแหวนขอบตัวเรือนด้วย ส่วนสเกลต่างๆ ตลอดจนข้อความและตราสัญลักษณ์ใช้สีทอง เว้นแต่สเกลในวงหน้าปัดย่อยที่ใช้เป็นสีน้ำเงิน ชี้บอกค่าด้วยเข็มเคลือบสีน้ำเงินเข้มด้วยเทคนิค CVD เพราะมีพื้นหน้าปัดเป็นทอง ‘Sedna’ 18K ตกแต่ง ‘Guilloché’ เป็นลายคลื่นเสียงเช่นเดียวกับวงขอบหน้าปัด ขณะที่หลักชั่วโมง เข็มชั่วโมงกับเข็มนาที และวงขอบหน้าปัดก็เป็นทอง ‘Sedna’ 18K ด้วยเช่นกัน ส่วนเข็ม ‘Split-seconds’ ซึ่งเป็นสีทองเหมือนกับเข็มจับเวลาวินาทีนั้นถูกเคลือบส่วนปลายด้วยสีแดง เพื่อสร้างความแตกต่างและสอดคล้องกับวงแหวนที่ปุ่มกด ‘Split-seconds’ สายที่ติดตั้งมาก็เป็นทอง ‘Sedna’ 18K เช่นเดียวกับตัวเรือน ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงขนาดที่ใหญ่โตของตัวเรือนและความกว้าง 21.0 มิลลิเมตร ของสายแล้ว ก็ไม่แปลกใจที่นาฬิกาจะมีน้ำหนักถึงราว 326.0 กรัม

 

นาฬิกากลไก Chrono Chime ทั้ง 2 รุ่น มาพร้อมกล่องไม้วอลนัทแบบลิ้นชักสุดอลังการที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งมีแผ่นสะท้อนเสียงที่ทำจากไม้สนติดตั้งมาด้วย โดยแผ่นนี้จะช่วยขยายเสียงตีบอกเวลาเมื่อวางนาฬิกาไว้ที่แป้น ณ ตำแหน่งที่กำหนดไว้ และยังมีแว่นขยาย กับกระเป๋านาฬิกาขนาดพกพามาให้ แต่ผู้ที่จะได้ครอบครองนาฬิกา 2 รุ่นนี้นั้นมีอยู่แค่น้อยนิด เพราะทาง Omega คาดการณ์ว่าจะผลิตกลไกคาลิเบรอนี้ขึ้นมาได้แค่ปีละ 5 เครื่องเท่านั้นเอง จึงไม่ใช่นาฬิกา ‘Limited Edition’ (ลิมิเต็ด เอดิชั่น) แต่เป็น ‘Numbered Edition’ (นัมเบอร์ด เอดิชั่น) ที่มีการสลักหมายเลขประจำเรือนกำกับไว้บนขอบฝาหลัง ทำให้ราคาที่ตั้งไว้ที่ 16.404 ล้านบาท สำหรับ Olympic 1932 Chrono Chime Ref.522.53.45.52.04.001 และ 17.575 ล้านบาท สำหรับ Speedmaster Chrono Chime Co-Axial Master Chronometer Chronograph 45 mm Ref.522.50.45.52.03.001 กลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย ใครสนใจอยากเข้าคิว ก็สามารถติดต่อได้ที่บูติกของ Omega โดยตรง

SEIKO JUNE 23 CONTENT RGT