HOME HEADER
HOME HEADER
Home Articles OMEGA SEAMASTER AQUA TERRA 150M SHADES - หลากหลายเฉดสีให้เลือกสรร

OMEGA SEAMASTER AQUA TERRA 150M SHADES – หลากหลายเฉดสีให้เลือกสรร

by: ‘TomyTom’

 

Omega (โอเมก้า) บอกว่าคอลเลกชั่นย่อยอนุกรมใหม่ของตระกูล Seamaster Aqua Terra 150M (ซีมาสเตอร์ อควา เทอร์รา 150 เมตร) ที่เพิ่มคำว่า ‘Shades’ (เฉดส์) ต่อท้าย รวมเป็น Seamaster Aqua Terra 150M Shades นี้เป็นการนำพา Omega สู่ทิศทางใหม่ในเส้นทางที่สดใสมีชีวิตชีวา ด้วยเฉดสีหน้าปัดที่มีให้เลือกอย่างหลากหลาย จึงทำให้ผู้คนสามารถเลือกเป็นเจ้าของสีที่บ่งบอกสไตล์ของแต่ละคนได้มากกว่าที่เคย โดยสีที่ Omega สรรหามาให้เลือกนั้นเป็นการไล่สเปกตรัมสีจากมหาสมุทรสู่พื้นโลก จึงมีตั้งแต่ ฟ้า ไปจนถึงสีดิน โดยสีเหล่านี้ล้วนมีธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจด้วยกันทั้งสิ้น

MITSUBISHI

 

Seamaster Aqua Terra Shades นำเสนอใน 2 ขนาดตัวเรือน คือขนาด 38.0 มิลลิเมตร หนา 12.3 มิลลิเมตร และขนาด 34.0 มิลลิเมตร หนา 11.9 มิลลิเมตร ซึ่งมีทั้งสเตนเลสสตีลขัดเงา และทอง ‘Sedna’ (เซดนา) 18K หรือทอง ‘Moonshine’ (มูนชายน์) 18K ซึ่งแน่นอนว่ามีพื้นฐานมาจากตระกูล Seamaster Aqua Terra เจเนอเรชั่นปัจจุบันที่ยังคงสืบทอดเจตนารมณ์จากรุ่นต้นตระกูลที่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2002 นั่นก็คือการนำเสนอนาฬิกาที่ไว้ใจได้ทั้งการใช้งานทางน้ำ ซึ่งสื่อด้วยคำว่า ‘Aqua’ และทางบกซึ่งสื่อด้วยคำว่า ‘Terra’ อันเป็นภาษาละตินที่หมายถึงน้ำและแผ่นดิน สมกับชื่อที่ตั้งไว้ และกลายเป็นหนึ่งในตระกูลย่อยของสายพันธุ์นาฬิกาเพื่อสายน้ำ Seamaster มาจนปัจจุบัน จากแนวคิดการออกแบบที่ชัดเจน นาฬิการุ่นนี้จึงดูดีมีสไตล์ และใช้สวมใส่คู้ข้อมือผู้มีชีวิตกระฉับกระเฉงไม่ชอบอยู่นิ่ง และชื่นชอบทั้งกิจกรรมในเมืองและในทะเลได้ง่ายเพราะเข้ากับเครื่องแต่งกายสำหรับกิจกรรมเหล่านี้ได้ดี และพิสูจน์ตัวเองด้วยกาลเวลากว่า 20 ปีแล้วว่า เป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญของผู้คนเสมอมา

 

คุณสมบัติสำคัญของ Seamaster Aqua Terra เจเนอเรชั่นปัจจุบันยังคงอยู่อย่างครบถ้วน ทั้งรูปลักษณ์ที่ดูผ่อนคลายสบายๆ ไม่เป็นทางการมากนัก กระจกหน้าปัดแซพไฟร์คริสตัลทรงโดมเคลือบสารกันกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ฝั่ง เม็ดมะยมแบบขันเกลียว ฝาหลังแบบกรุแซพไฟร์คริสตัล การกันน้ำที่กระทำได้ถึงระดับ 150 เมตร กลไกที่ป้องกันการรบกวนจากสนามแม่เหล็กได้ ซึ่งช่วยเสริมให้เกิดความเที่ยงตรงระดับสูงแก่กลไกที่ใช้ระบบปล่อยจักรแบบ ‘Co-Axial’ (โคแอ็กเซียล) อันเป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่มาตรฐาน ‘Master Chronometer’ (มาสเตอร์ โครโนมิเตอร์) ของ ‘METAS’ (เมตาส) ซึ่งนาฬิการุ่นนี้จะต้องผ่านเกณฑ์กำหนดที่มี ส่วนสายนั้นได้รับการออกแบบใหม่ให้ตัวข้อทรงมนมีขนาดที่เล็กลง ทำให้ดูงามสง่าขึ้นเดิม ตัวล็อกจะเนียนตาด้วยขนาดที่เล็ก และปลดล็อกด้วยปุ่มกดคู่เพื่อกางออกในรูปแบบของปีกผีเสื้อ

 

ทั้งเวอร์ชั่นขนาดเรือน 38.0 มิลลิเมตร และ 34.0 มิลลิเมตร เผยโฉมออกมาพร้อมกันขนาดละ 5 สีหน้าปัด ในตัวเรือนผิวขัดเงาและสายขัดเงาสลับปัดลายซาตินที่ทำจากสเตนเลสสตีล แต่มีแค่สี ‘Sandstone’ (แซนด์สโตน) เพียงสีเดียวที่ซ้ำกัน นอกนั้นจะต่างกันออกไป โดยหากไล่เฉดแรงบันดาลใจสีจากฟากฟ้าสู่พื้นดินแล้วขนาด 38.0 มิลลิเมตร จะเป็นสี ‘Atlantic Blue’ (แอตแลนติก บลู) สี ‘Bay Green’ (เบย์ กรีน) สี ‘Sandstone’ สี ‘Saffron’ (แซฟฟรอน) และสี ‘Terracotta’ (เทอร์ราคอตตา) ส่วนขนาด 34.0 มิลลิเมตร จะเป็นสี ‘Sea Blue’ (ซี บลู) สี ‘Lagoon Green’ (ลากูน กรีน) สี ‘Sandstone’ สี ‘Shell Pink’ (เชลล์ พิงค์) และสี ‘Lavender’ (ลาเวนเดอร์) โดยไม่ว่าจะเป็นขนาดใดสีไหนก็มากับหน้าปัดวัสดุทองเหลืองปัดลาย ‘Sun-brushed’ (ซันบรัชด์) เคลือบแลคเกอร์เช่นเดียวกัน ส่วนสีที่ปรากฏนั้นเป็นการเคลือบด้วยเทคนิค PVD หรือ CVD ตามความเหมาะสมกับโทนสีที่ใช้ เช่น ‘Terracotta’ จะเป็นการเคลือบ PVD และ ‘Sea Blue’ เป็นการเคลือบ CVD เป็นต้น

 

ขณะที่ทั้ง 2 ขนาดเรือน ใช้เข็มชั่วโมง เข็มนาที และเข็มวินาทีซึ่งแต่ละเข็มมีรูปทรงต่างกัน ที่เหมือนกันคือติดตราสัญลักษณ์แบรนด์ และพิมพ์ชื่อตระกูล ‘Seamaster’ ไว้ที่ใต้ 12 นาฬิกา กับบ่งบอกความเป็น ‘Co-Axial Master Chronometer’ อยู่เหนือตำแหน่ง 6 นาฬิกา ใช้จานวันที่สีขาวพิมพ์เลขสีดำ และฉาบสารเรืองแสง ‘Super-LumiNova’ (ซูเปอร์ลูมิโนวา) สีขาวไว้ที่หลักชั่วโมงทั้ง 12 กับเข็มทั้ง 3 เหมือนๆ กัน แต่รูปทรงของชิ้นหลักชั่วโมงกับกรอบหน้าต่างวันที่นั้นแตกต่างกัน โดยรุ่นขนาดใหญ่จะมีหลักชั่วโมงเป็นแท่งสี่เหลี่ยมทรงลิ่ม กับกรอบหน้าต่างสี่เหลี่ยมคางหมู ส่วนขนาดเล็กจะเป็นหลักชั่วโมงทรงเม็ดข้าว กับกรอบหน้าต่างทรงกลม อีกทั้งรุ่นขนาดใหญ่จะมีสเกลนาที-วินาทีพิมพ์ไว้บริเวณริมหน้าปัดด้วย อีกจุดต่างก็คือ ขนาด 34.0 มิลลิเมตร จะใช้หลักชั่วโมงและเข็มสีเงินที่ทำจากทองขาว 18K และใช้ตราสีเงิน แต่ชื่อแบรนด์เป็นแบบพิมพ์ ขณะที่ของเรือนขนาด 38.0 มิลลิเมตร จะถูกเคลือบด้วยโรเดียมทั้งหลักชั่วโมง เข็ม ตรา และชื่อแบรนด์ ส่วนข้อความหรือสเกลบนหน้าปัดจะพิมพ์เป็นสีเงิน หรือสีเทาสลับตามแต่โทนสีอ่อนเข้มของหน้าปัดแต่ละสี

 

กลไกที่ใช้กับทั้ง 2 ขนาดเรือน เป็นคาลิเบรอเดียวกัน คือเวอร์ชั่นเรือนสเตนเลสสตีลจะเป็น กลไก ‘In-house’ (อินเฮาส์) อัตโนมัติ Cal.8800 เอสเคปเมนต์แบบ ‘Co-Axial’ สายใยจักรกลอกซิลิกอน สำรองพลังงานได้ 55 ชั่วโมง โรเตอร์และสะพานจักรเคลือบโรเดียม ตกแต่งลายคลื่นเจนีวาแบบอาหรับ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ‘Master Chronometer’ ที่เข้มงวดสุดๆ ทั้งเรื่องคุณภาพ ความเที่ยงตรง และการต้านทานสนามแม่เหล็กได้ถึง 15,000 เกาส์ และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานความเที่ยงตรงโครโนมิเตอร์ของ COSC มาก่อนแล้วด้วย เว้นแต่เวอร์ชั่นเรือนทอง ‘Sedna’ 18K และทอง ‘Moonshine’ 18K ที่จะบรรจุเป็น Cal.8801 ซึ่งใช้สะพานจักรยึดจักรกลอกและโรเตอร์ที่ทำจากทอง ‘Sedna’ 18K

 

ส่วนเวอร์ชั่นระดับท็อปของทั้ง 2 ขนาดนั้น ไซส์ 38.0 มิลลิเมตร จะใช้ตัวเรือนและสายที่ทำจากทอง ‘Sedna’ 18K ทองชาดสูตรเฉพาะของ Omega ที่ให้สีอบอุ่น และคงสภาพสีไว้ได้อย่างยาวนาน พร้อมประดับเพชรเรียงราย 46 เม็ด น้ำหนักรวม 1.77 กะรัต ไว้บนขอบตัวเรือน ส่วนหน้าปัดจะเป็นสี ‘Sandstone’ ที่ได้จากการเคลือบด้วยเทคนิค CVD และใช้หลักชั่วโมงทรงเม็ดข้าว กับกรอบหน้าต่างวันที่ที่ทำจากทอง ‘Sedna’ 18K ร่วมด้วยเข็มกับตราและชื่อ Omega สีทอง ‘Sedna’ โดยมีสีข้อความบนหน้าปัดเป็นสีเทา

 

ขณะที่ไซส์ 34.0 มิลลิเมตร จะมาในร่างตัวเรือนทอง ‘Moonshine’ 18K อันเป็นทอง 18K สูตรเฉพาะของ Omega ซึ่งให้สีที่จางกว่าทองทั่วไป แต่คงสภาพสีไว้ได้ยาวนานกว่า และจับคู่มากับสายหนังจระเข้สีเขียว ‘Pine Green’ (ไพน์ กรีน) ล็อกด้วยบานพับหัวเข็มขัดทอง ‘Moonshine’ 18K ปลดล็อกด้วยปุ่มกดคู่ เพื่อขับเน้นหน้าปัดที่เป็นสีเขียว ‘Lagoon Green’ ซึ่งเป็นการเคลือบด้วยเทคนิค CVD ร่วมกับกรอบหน้าต่างวันที่ทอง ‘Moonshine’ 18K หลักชั่วโมง เข็ม และดวงตราสีทอง และพิมพ์ข้อความด้วยสีเงิน

 

ราคาที่ตั้งไว้สำหรับแบบตัวเรือนและสายสเตนเลสสตีล ทั้งขนาด 38.0 มิลลิเมตร และ 34.0 มิลลิเมตร อยู่เท่ากันที่ 233,000 บาท ส่วนแบบตัวเรือนและสายทอง ‘Sedna’ 18K ตั้งไว้ที่ 1.405 ล้านบาท และตัวเรือนทอง ‘Moonshine’ 18K 34.0 มิลลิเมตร อยู่ที่ 594,000 บาท

SEIKO MAY 23 CONTENT RGT