HOME HEADER
HOME HEADER
Home Articles PERPETUAL PLANET - วีรชนแห่งมหาสมุทร

PERPETUAL PLANET – วีรชนแห่งมหาสมุทร

by: ‘Dr. Tae’

 

“โลกของเรา เปรียบเสมือนห้องทดลองที่มีชีวิต”

ด้วยมุมมองของ Hans Wilsdorf (ฮันส์ วิลส์ดอร์ฟ) ผู้ก่อตั้ง Rolex (โรเล็กซ์) เช่นนี้เอง เขาจึงส่งนาฬิกาไปยังสถานที่ต่างๆ ที่มีสภาวะอากาศและภูมิประเทศสุดหฤโหด พร้อมๆ กับเหล่านักสำรวจที่ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ดินแดนที่ยังไม่มีใครรู้จัก สู่ยอดเขาที่สูงที่สุด และดำดิ่งลงไปยังใต้ท้องมหาสมุทร เพื่อเป็นการทดสอบนาฬิกาในห้องทดลองที่ชื่อว่า ‘โลก’ มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1930s โดยในปี 1933 ได้สนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ แก่คณะสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์ ‘British Everest Expedition’ (บริติช เอเวอเรสต์ เอ็กซ์พีดิชั่น) และให้การสนับสนุนอีกครั้งในปี 1953 กับภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ของ Sir John Hunt (เซอร์ จอห์น ฮันต์) ในฐานะหัวหน้าคณะสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์ ที่ทำให้ Sir Edmund Hillary (เซอร์ เอดมุนด์ ฮิลลารี) และ Tenzing Norgay (เทนซิง นอร์เกย์) เป็น 2 บุคคลแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ

Sir Edmund Hillary และ Tenzing Norgay พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของมนุษยชาติในปี 1953

โฆษณาของ Rolex ในปี 1953 ซึ่งชูความสำเร็จในการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ของภารกิจ ‘British Mount Everest Expedition’

Rolex Oyster Perpetual ที่เปิดตัวใหม่ในปี 1953

MITSUBISHI

 

 

เพื่อเป็นเกียรติยศเชิดชูความสำเร็จยิ่งใหญ่ในการพิชิตเอเวอเรสต์ครั้งนี้ Rolex ได้เปิดตัวนาฬิกาคู่กายนักสำรวจในปี 1953 โดยได้พัฒนานาฬิการุ่น Explorer (เอ็กซ์โพลเรอร์) ให้มีความแข็งแกร่ง หน้าปัดที่อ่านได้อย่างชัดเจน รองรับสภาพแวดล้อมที่หฤโหดได้เป็นอย่างดี และนับตั้งแต่นั้นมา นาฬิการุ่น Explorer ก็ได้รวมความก้าวล้ำทางเทคนิคของ Rolex เอาไว้ทั้งหมด โดยคงรูปลักษณ์ไว้เช่นเดิม

ต่อมาในปี 1960 ทาง Rolex ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสำรวจเหวสมุทร ‘Mariana Trench’ (มาริอานา เทรนช์) ด้านแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งเป็นจุดที่ลึกที่สุดในบรรดามหาสมุทรทั้งหมด เทียบได้กับความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ที่บวกเพิ่มไปอีก 2,000 เมตร ด้วยยานสำรวจน้ำลึก ‘Trieste’ (ทริเอสเต) ที่บังคับโดย Jacques Piccard (ฌาคส์ พิคการ์ด) และ Don Walsh (ดอน วอลช์) โดยติดตั้ง Rolex Oyster (โรเล็กซ์ ออยสเตอร์) รุ่นทดลองชื่อ Deep Sea Special (ดีพ ซี สเปเชียล) ไว้ภายนอกตัวยานสำรวจขณะดำดิ่งลงไปยังความลึก 10,916 เมตร (35,800 ฟุต) ซึ่งปรากฏว่านาฬิกายังคงทำงานอย่างเป็นปกติสมบูรณ์ แม้จะต้องอยู่ภายใต้แรงดันมหาศาลใต้ท้องทะเลลึก

ยานสำรวจน้ำลึก ‘Trieste’ ที่ดำดิ่งลงสู่เหวสมุทร ‘Mariana Trench’ ในปี 1960

Rolex Oyster Deep Sea Special ที่ติดตั้งไว้นอกยานสำรวจน้ำลึก ‘Trieste’ ในภารกิจปี 1960

 

ค.ศ. 2012 ผู้สร้างภาพยนตร์และผู้ใช้นาฬิกา Rolex ตัวจริงอย่าง James Cameron (เจมส์ คาเมรอน) ประสบความสำเร็จในการดำดิ่งสู่ใต้ทะเลลึกด้วยยานสำรวจ ‘Deepsea Challenger’ (ดีพซี ชาลเลนเจอร์) โดยติดตั้งนาฬิกานักประดาน้ำรุ่นทดลอง Oyster Perpetual Deepsea Challenge (ออยสเตอร์ เพอร์เพทชวล ดีพซี ชาลเลนจ์) ไว้ที่แขนกลข้างหนึ่งของยาน ผลปรากฏว่า นาฬิการุ่นดังกล่าวสามารถกันน้ำได้ลึกถึงระดับ 12,000 เมตร ทนทานต่อแรงดัน 12 ตัน ได้ด้วยกระจกหน้าปัดคริสตัลแซพไฟร์ โดยที่ยังคงบอกเวลาได้อย่างสมบูรณ์และกลับสู่ผิวน้ำได้โดยไร้รอยขีดข่วนใดๆ

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นั้น Rolex ได้ต่อยอดจากการสนับสนุนการสำรวจเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ พัฒนาไปสู่การอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเปิดตัวโครงการ ‘Perpetual Planet’ (เพอร์เพทชวล แพลเน็ต) ในปี 2019 เพื่อสนับสนุนบุคคลและองค์กรต่างๆ ที่ใช้วิทยาศาสตร์ในการทำความเข้าใจกับบริบทความท้าทายและปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก พร้อมเสาะแสวงหาวิธีที่จะคืนสมดุลให้กับระบบนิเวศ นับเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของ Rolex ที่ชัดเจนในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ

ส่วนหนึ่งของหลากหลายโครงการของ ‘Perpetual Planet’ ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก

 

มาในปี 2021 นี้ Rolex ได้เปิดตัวสารคดี ‘Perpetual Planet: วีรชนแห่งมหาสมุทร’ ผ่านทางเว็บไซต์ www.rolex.org ซึ่งเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของนักสมุทรศาสตร์ระดับตำนาน และคนรักนาฬิกา Rolex ตัวจริง อย่าง Sylvia Earle (ซิลเวีย เอียร์เลอ) พร้อมทีมสำรวจนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่จะร่วมกันบอกเล่าเรื่องราวการทำงานทั่วทุกมุมโลก เพื่อปกป้องระบบนิเวศอันเปราะบางของบรรดามหาสมุทร

Sylvia Earle และโปรเจ็กต์อนุรักษ์ ‘Mission Blue’ ของเธอ

 

Rolex รับหน้าที่จัดทำสารคดีนี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Perpetual Planet’ เพื่อช่วยสนับสนุนการหาหนทางแก้ปัญหาความท้าทายต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งตรงกับจิตวิญญาณของ Sylvia Earle ผู้ริเริ่มโครงการ ‘Mission Blue’ (มิชชั่น บลู) ซึ่งเป็นพันธมิตรกับโครงการ ‘Perpetual Planet’ อีกทั้งยังเป็นผู้บรรยายสารคดีเรื่องนี้ซึ่งกล่าวถึงการทำงานของเหล่านักวิทยาศาสตร์ ได้แก่

Emma Camp (เอมมา แคมป์) เจ้าของรางวัล ‘Rolex Awards’ (โรเล็กซ์ อวอร์ดส) ปี 2019 ผู้พัฒนาการอนุบาลปะการังในบริเวณแนวปะการัง ‘Great Barrier Reef’ (เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ) นอกชายฝั่งออสเตรเลีย

Emma Camp กับโครงการที่ ‘Great Barrier Reef’

 

Michel André (มิเชล อังเดร) เจ้าของรางวัล ‘Rolex Awards’ ปี 2002 ผู้นำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาใช้เพื่อปกป้องความสงบของมหาสมุทรจากภัยคุกคามของมลภาวะทางเสียง

Michel André

 

Kerstin Forsberg (เคิร์สติน ฟอร์สเบิร์ก) เจ้าของรางวัล ‘Rolex Awards’ ปี 2016 ผู้ปกป้องกระเบนแมนต้าที่ใกล้สูญพันธุ์ ด้วยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่มีต่อมหาสมุทรผ่านการศึกษาและการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

Kerstin Forsberg กับโครงการแนุรักษ์กระเบนแมนต้า

 

Brad Norman (แบรด นอร์แมน) เจ้าของรางวัล ‘Rolex Awards for Enterprise’ ปี 2006 ผู้ใช้เทคโนโลยีแท็กอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดตามและปกป้องปกป้องเหล่าฉลามวาฬในทวีปออสเตรเลีย

Brad Norman และภารกิจปกป้องฉลามวาฬ

 

Vreni Häussermann (เวรนี เฮาส์เซอร์มันน์) เจ้าของรางวัล ‘Rolex Awards for Enterprise’ ปี 2016 ผู้ใช้เรือดำน้ำขนาดเล็กในการค้นหาสายพันธุ์ปะการังที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน เพื่อที่จะอนุรักษ์และปกป้องเอาไว้

Vreni Häussermann กับภารกิจอนุรักษ์ปะการัง

 

Angélique Pouponneau (แองเจลีค ปูปงโน) ผู้ต่อสู้เพื่อโครงการ ‘Mission Blue’ ในประเทศเซเชลส์

Angélique Pouponneau

 

รวมทั้ง Ghislain Bardout (กิสเลน บาร์ดูต์) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการสำรวจโครงการ ‘Under the Pole’ (อันเดอร์ เดอะ โพล) ผู้พัฒนาแคปซูลพิเศษที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้ชีวิตอยู่ใต้ทะเลได้ถึงคราวละ 72 ชั่วโมง เพื่อทำการเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญในการปกป้องมหาสมุทร

Ghislain Bardout ผู้อำนวยการโครงการ ‘Under the Pole’

 

สารคดีความยาวร่วม 1 ชั่วโมง จะพาผู้ชมดำดิ่งสู่โลกใต้น้ำ ร่วมค้นพบปัญหาความท้าทายมากมายที่มหาสมุทรต่างๆ กำลังประสบในปัจจุบัน พร้อมรับชมแนวทางแก้ไขปัญหาที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบัน 1 ใน 3 ของมหาสมุทรทั่วโลกกำลังถูกทำลายลงจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์

Sylvia Earle

“เรายังคงมีความหวัง พวกเราทุกคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยการเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่นๆ หากเรามีความหลงใหล ความใคร่รู้ และมีความหวัง ไม่ว่าใครก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งได้ เราสามารถสร้างสรรค์โลกที่ยั่งยืน (Perpetual Planet) เพื่อส่งต่อไปยังชนรุ่นหลังได้” Sylvia Earle กล่าว

ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นผลงานการสร้างของแผนกวิทยาศาสตร์ BBC ซึ่งนอกจากจะเผยแพร่ทางช่อง ‘National Geographic’ (เนชันแนล จีโอกราฟิก) แล้ว ยังสามารถรับชมได้ที่ www.rolex.org อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความตระหนักรู้เนื่องในวันมหาสมุทรโลก (World Oceans Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี

รับชมวิดีโอได้ที่นี่ >>> Perpetual Planet: วีรชนแห่งมหาสมุทร

Sompol Mingkhuan
บรรณาธิการบริหาร นิตยสารนาฬิกา Watch World-Wide ผู้คร่ำหวอดในวงการนาฬิกามายาวนานกว่า 20 ปี จนได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
SEIKO MAY 23 CONTENT RGT