by: ‘Mr.Big’
เมื่อเอ่ยถึงแบรนด์สวิสชั้นนำอย่าง Perrelet (แปร์เรอเลต์) เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงประดิษฐกรรมเวลาที่โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์โรเตอร์แบบใบพัดที่ติดตั้งให้หมุนตามจังหวะการเคลื่อนไหวอยู่บนหน้าปัดของคอลเลกชั่น Turbine (เทอร์ไบน์) เป็นอันดับแรก และก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนจดจำชื่อของ Perrelet ได้ดีมาจนถึงทุกวันนี้ ทว่าในความเป็นจริงแล้ว Perrelet ไม่ใช่เป็นแบรนด์นาฬิกาที่มีดีเฉพาะแค่คอลเลกชั่น Turbine เท่านั้น แต่ยังมีคอลเลกชั่นอื่นๆ ที่สร้างสรรค์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนาฬิกาสปอร์ตในคอลเลกชั่น Lab Peripheral (แล็บ เพอริเฟอรัล) ซึ่งโดดเด่นด้วยการใช้ระบบขึ้นลานบนขอบรางหรือ ‘Peripheral’ หรือในกลุ่มนาฬิกาเดรสก็มี Weekend (วีคเอนด์) ที่นำเสนอเสน่ห์คลาสสิกในหลากหลายรูปแบบ พร้อมกลไก ‘In-house’ (อินเฮาส์) ประสิทธิภาพสูงของแบรนด์ และปีนี้ Perrelet ก็ได้สร้างทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นให้กับกลุ่มนาฬิกาเดรสของตน ด้วยสมาชิกใหม่ที่มาพร้อมความสวยงามของหน้าปัดสีฟ้า ‘Ice Blue’ โดยจัดเต็มมาครบทั้ง 3 ไลน์ที่มี ไม่ว่าจะเป็นรุ่น 3 เข็ม รุ่น Open Heart (โอเพน ฮาร์ท) หรือรุ่น GMT (จีเอ็มที)
หน้าปัด ‘Ice Blue’ ของทั้ง 3 รุ่น นำเสนอมาในความเข้มอ่อนของสีที่ไม่ต่างกัน และผ่านการแต่งลายแบบ ‘Sunburst’ (ซันเบิร์สต) เพื่อเพิ่มมิติประกายที่สวยงามของสีฟ้าในทุกมุมมอง ติดตั้งหลักชั่วโมงและเข็มเคลือบโรเดียมสีเงินทรงแท่งในสไตล์เรียบง่าย ล้อมด้วยแทร็คเวลาบริเวณขอบ ซึ่งมีฟังก์ชันแสดงเวลาแบบ 3 เข็ม ยืนพื้นในทุกรุ่น โดยรุ่น Open Heart ได้เพิ่มรายละเอียดตามชื่อรุ่นด้วยการเจาะช่องหน้าต่างทรงกลมเหนือตำแหน่ง 6 นาฬิกา เยื้องออกทางด้านขวาเล็กน้อย เพื่อเผยให้เห็นชุดจักรกลอกที่เหวี่ยงทำงานอยู่ภายใน ขณะที่รุ่น GMT เพิ่มการติดตั้งเข็มหัวลูกศรปลายสีแดงร่วมอยู่บนแกนเข็มชุดหลัก สำหรับแสดงเวลาไทม์โซนที่ 2 แบบ 24 ชั่วโมง ผ่านสเกลเวลาที่วางอยู่บนวงแหวน ‘Chapter Ring’ (แชปเตอร์ ริง) ผิวด้านแบบคุมโทน ซึ่งแบ่งเฉดเป็นสีฟ้าอ่อนและสีฟ้าเข้ม เป็นเครื่องหมายแสดงช่วงกลางวัน-กลางคืน พร้อมเจาะช่องหน้าต่างแสดงวันที่ไว้ที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา เว้นเฉพาะรุ่น Open Heart ที่ยกโมดูลแสดงวันที่ออกไป เพื่อให้ผู้สวมใส่โฟกัสที่การทำงานของจักรกลอกอย่างเต็มที่
การทำงานของทั้ง 3 รุ่น ใช้กลไกออโตเมติกที่สร้างสรรค์ขึ้นแบบ ‘In-house’ ภายในเวิร์กช็อปของ Perrelet เอง ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องสงสัยในคุณภาพแต่อย่างใด เนื่องจากกลไกที่มีความยากอย่าง ‘Turbine’ หรือ ‘Peripheral’ หรือแม้แต่เครื่องที่ผ่านมาตรฐานโครโนมิเตอร์ ก็ล้วนสร้างสรรค์มาแล้วทั้งสิ้น โดยเครื่องที่ใช้กับรุ่น 3 เข็มคือ Cal.P-321 ส่วนรุ่น Open Heart เป็น Cal.P-391 ซึ่งพัฒนามาจาก Cal.P-321 อีกต่อหนึ่ง แตกต่างกันเพียงแค่มีหรือไม่มีโมดูลวันที่ ตัวกลไกมีขนาดเท่ากันคือเส้นผ่าศูนย์กลาง 26.2 มิลลิเมตร หนา 3.85 มิลลิเมตร ใช้ชิ้นส่วนในการประกอบ 93 ชิ้น ส่วน Cal.P-391 ถอดฟังก์ชันวันที่ออกไป จึงเหลือชิ้นส่วนแค่ 92 ชิ้น ร่วมกับทับทิมกันสึก 25 เม็ด เท่ากัน แท่นเครื่องและสะพานจักรเคลือบโรเดียม และขัดแต่งด้วยลาย ‘Côtes de Genève’ (โกตส์ เดอ เฌอแนฟ) สลับกับงานขัดผิวลายวน ‘Circular Grained’ (เซอร์คิวลาร์ เกรนด์) เดินกำลังด้วยความถี่ 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง และมอบพลังงานสำรองที่ 42 ชั่วโมง ส่วนรุ่น GMT ใช้เครื่องออโตเมติก Cal.P-401 โดยตัวเครื่องเคลือบด้วยโรเดียมเช่นเดียวกัน ส่วนงานฟินิชิงเป็นรูปแบบพ่นทรายสลับงาน ‘Circular Grained’ มีจำนวนส่วนประกอบทั้งหมด 99 ชิ้น ทับทิม 25 เม็ด บนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 26.2 มิลลิเมตร หนา 4.25 มิลลิเมตร เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง และสำรองพลังงานได้ 42 ชั่วโมง เช่นกัน
แม้จะมีความหนาของกลไกที่แตกต่างกัน แต่ทุกรุ่นก็บรรจุมาในตัวเรือนขนาดเดียวกันคือ 39.0 มิลลิเมตร หนา 9.56 มิลลิเมตร ผลิตจากสเตนเลสสตีลที่ผ่านการแต่งผิวแบบซาตินสลับงานขัดมันบริเวณสันขอบ พร้อมความสามารถในการกันน้ำที่ 50 เมตร และใช้คริสตัลแซพไฟร์เคลือบสารกันการสะท้อนกรุทั้งหน้าปัดและฝาหลังของทุกรุ่น สามารถเลือกประกอบได้ทั้งกับสายหนังหรือสายสเตนเลสสตีล จัดจำหน่ายให้เป็นเจ้าของกันที่ราคา 1,280-1,880 ฟรังก์สวิส หรือคิดเป็นเงินไทยตกอยู่ที่ประมาณ 51,000-75,000 บาท