UN HEADER 23
UN HEADER 23
Home Articles SEIKO PRESAGE LIMITED EDITION SPB359 SEIKO WATCHMAKING 110TH ANNIVERSARY - คารวะนาฬิกาข้อมือแบบแรกของญี่ปุ่น

SEIKO PRESAGE LIMITED EDITION SPB359 SEIKO WATCHMAKING 110TH ANNIVERSARY – คารวะนาฬิกาข้อมือแบบแรกของญี่ปุ่น

by: ‘TomyTom’

 

อายุของบริษัทนาฬิกาญี่ปุ่น Seiko (ไซโก) เริ่มนับตั้งแต่ ค.ศ. 1881 ที่ Kintaro Hattori (คินทาโร ฮัตโตริ) เปิดร้านรับซ่อมและจำหน่ายนาฬิกาของตนขึ้นในกินซ่า ก่อนที่จะเปิดโรงงาน ‘Seikosha’ (ไซโกฉะ) เพื่อผลิตนาฬิกาคล็อกของตนเองขึ้นใน ค.ศ. 1892 พอมาถึงยุคที่นาฬิกาพกกลายเป็นของที่ผู้คนมีใช้กันอย่างแพร่หลาย เขาก็คิดสร้างนาฬิกาสำหรับคาดข้อมือขึ้นมา โดยสำเร็จเสร็จพร้อมจำหน่ายเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1913 และมีสถานะเป็นนาฬิกาข้อมือแบบแรกของผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่น นาฬิกาข้อมือที่สร้างขึ้นนี้ถูกให้ชื่อว่า ‘Laurel’ (ลอเรล) ค.ศ. 1913 จึงเป็นหลักเริ่มต้นนับการเป็นผู้ผลิตนาฬิกาข้อมือของ Seiko ซึ่งดำเนินเรื่อยมาจนถึงปีที่ 110 ณ ค.ศ. 2023 ที่กำลังจะมาถึงนี้ Seiko จึงฉลองวาระเลขปีสวยๆ นี้ด้วยการออกซีรีส์นาฬิกาพิเศษ ‘Seiko Watchmaking 110th Anniversary’ (ไซโก วอทช์เมกิง เดอะ ฮันเดร็ดแอนด์เทนธ์ แอนนิเวอร์ซารี) มาเพื่อเป็นที่ระลึก โดยจะมีอยู่หลายรุ่นด้วยกัน หากแต่รุ่นที่เปิดตัวออกมาแรกสุดก็คือ Presage Limited Edition (พรีซาจ ลิมิเต็ด เอดิชั่น) SPB359 ที่ผลิตจำนวนจำกัดที่ตัวเลข 2,500 เรือน โดยจัดอยู่ในหมวดหมู่ ‘Prestige Line’ (เพรสทีจ ไลน์) อันเป็นกลุ่มนาฬิกาสูงศักดิ์ของตระกูล Presage

นาฬิกา Laurel จาก ค.ศ. 1913

Seiko Presage Limited Edition SPB359 สำหรับปี 2023

MITSUBISHI

 

ที่ Seiko Presage Limited Edition SPB359 ได้รับเกียรติเปิดตัวออกมาเพื่อฉลองวาระ 110 ปี แห่งการผลิตนาฬิกาของ Seiko ก็เพราะว่าเป็นชิ้นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยมีนาฬิกา Laurel จาก ค.ศ. 1913 ซึ่งได้รับการบันทึกให้เป็นหนึ่งใน ‘มรดกทางวิศวกรรมเครื่องกล’ จากสมาคมวิศวกรเครื่องกลแห่งประเทศญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 2014 โดยเป็นการยกย่องในฐานะการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องกล เป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งไม่เพียงแค่สไตล์หน้าปัดหรือรายละเอียดของบางชิ้นส่วน แต่มากันเต็มๆ จนถึงดีไซน์ของตัวเรือน เม็ดมะยม กระทั่งสายที่ติดตั้งมา จนอาจแทบเรียกได้ว่าเป็นการฟื้นชีพร่างของ Laurel ปี 1913 ขึ้นมาใหม่กันเลย นั่นหมายถึงว่ามิใช่เป็นการนำนาฬิกา Presage รุ่นใดมาเป็นพื้นฐานในการสร้าง หากแต่เป็นการออกแบบสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยเอา Laurel ปี 1913 มาเป็นแม่แบบในแทบจะทุกรายละเอียด

 

เริ่มต้นจากตัวเรือนทรงกลมที่มีขอบตัวเรือนเป็นแนวโค้งสวยงาม เม็ดมะยมทรงหัวหอมที่ใหญ่ทั้งขนาดและร่องหยักให้จับหมุนได้ถนัดมือ ขาตัวเรือนที่เล็ก สั้น มีระยะความกว้างไม่มาก มีแนวโค้งละมุนตา และขยับได้ ซึ่งติดตั้งมากับสายหนังกวางสีน้ำตาลเข้มดีไซน์สุดวินเทจที่พาดบนด้านหลังของตัวเรือน ทั้งหมดนี้แทบจะถอดแบบมาจาก Laurel เรือนต้นฉบับกันเลย หากแต่องค์ประกอบต่างๆ นั้นเป็นวัสดุสมัยใหม่ เช่น สเตนเลสสตีลคุณภาพสูง และกระจกหน้าปัดคริสตัลแซพไฟร์ทรงกล่อง เคลือบสารกันแสงสะท้อนบนผิวด้านใน เป็นต้น และด้วยกระจกทรงกล่องนี้ก็ทำให้ความหนาของตัวเรือนโดยรวมวัดได้ 12.6 มิลลิเมตร ในขณะที่เส้นผ่าศูนย์กลางตัวเรือนอยู่ที่ 37.5 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าค่อนข้างเล็ก แต่ก็ส่งเสริมอารมณ์วินเทจได้เป็นอย่างดี ขณะที่ระยะความกว้างของขาสายอยู่ที่ 11.0 มิลลิเมตร เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าจะไปหาสายใดมาเปลี่ยนแทนสายเดิมนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ส่วนการกันน้ำกระทำได้ระดับ 5 บาร์ (50 เมตร) สำหรับฝาหลังซึ่งเป็นแบบขันเกลียวนั้นมาในแบบแผ่นสเตนเลสสตีลทึบที่เรียบง่าย แต่มีการสลักชื่อแบรนด์ขนาดใหญ่ไว้กึ่งกลาง ถัดลงมาเป็นข้อความ ‘Limited Edition’ และหมายเลขประจำเรือน ‘XXXX / 2500’

 

เมื่อตัวเรือนเป็นรูปแบบดั้งเดิมแล้ว ดีไซน์หน้าปัดก็ย่อมต้องมาในรูปแบบดั้งเดิมด้วย จึงมากันครบๆ ทั้งหลักชั่วโมงเลขอารบิกฟอนต์เอียงสลวยสีดำที่มีเฉพาะเลข 12 เป็นสีแดง ทั้งยังคงมีหางเลข 4 ที่แปลกตาเหมือนกับเรือนต้นฉบับ สเกลนาทีสีดำที่เน้นขีดหนา ณ ตำแหน่งหลัก 5 เข็มดีไซน์เรโทรแบบต้นฉบับซึ่งใช้เป็นสตีลทำสีน้ำเงินด้วยเทคนิคการให้ความร้อน มิใช่การเคลือบสี และผิวหน้าปัดสีขาวซึ่งเป็นงานลงยาเช่นเดียวกับเรือนต้นฉบับ โดยหนนี้เป็นผลงานของช่างฝีมือนาม Mitsuru Yokosawa (มิตซูรุ โยโกซาวะ) และทีม ซึ่งเป็นทีมผู้เชี่ยวชาญในการผลิตชิ้นงานลงยา ขณะที่บนหน้าปัดนั้นมีได้จารึกชื่อ ‘Laurel’ หากบอกเต็มๆ อย่างภาคภูมิทั้ง ‘Seiko’, ‘Presage’ และ ‘Automatic’ (ออโตเมติก)

 

แต่ความสมัยใหม่อันเป็นเครื่องแสดงออกถึงกลไกชั้นยอดของ Seiko ในยุคปัจจุบันก็ถูกแฝงเข้ามาในนาฬิการุ่นนี้ด้วย โดยจะเห็นว่ามีเข็มวินาที ณ กลางหน้าปัด ร่วมแกนเดียวกับเข็มชั่วโมงและเข็มนาที ในขณะที่เรือนต้นฉบับไม่มี ส่วนวงหน้าปัดย่อยที่อยู่ ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ที่มีฟอนต์เลขอารบิกและสเกลแบบรางรถไฟและชี้บอกค่าด้วยเข็มเล่มเรียวละม้ายกับเรือนต้นฉบับนั้นจะเป็นฟังก์ชันแสดงวันที่ด้วยเข็ม และจะมีตำแหน่งวงหน้าปัดอยู่ใกล้เข็มกลางมากกว่าต้นฉบับอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้ใต้วงหน้าปัดย่อยจำต้องมีเส้นโค้งในลักษณะฐานของเลข 6 ปรากฏอยู่ เพื่อมิให้พื้นที่ถูกเว้นโล่ง นอกจากนี้ยังมีเข็มสตีลสีน้ำเงินโผล่มาที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา อีกเข็มหนึ่ง เพื่อชี้ไปยังจุดสเกลดำ 3 จุด และมีเลข 40 สีดำอยู่เหนือจุดล่าง ซึ่งหมายถึง 40 ชั่วโมง อันเป็นฟังก์ชันแสดงพลังงานสำรองด้วยเข็มนั่นเอง ทั้งหมดนี้เป็นการทำงานของกลไก ‘In-house’ (อินเฮาส์) อัตโนมัติที่สามารถขึ้นลานด้วยมือได้ พร้อมระบบหยุดเข็มวินาทีขณะตั้งเวลา จำนวนทับทิม 29 เม็ด สำรองพลังงานได้ 45 ชั่วโมง ความถี่การทำงาน 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง Cal.6R27

 

 

Seiko Watchmaking 110th Anniversary Seiko Presage Limited Edition SPB359 ผลิตจำนวนจำกัด 2,500 เรือน รุ่นนี้จะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 เป็นต้นไป โดยสามารถซื้อหากันได้ที่บูติก Seiko และตัวแทนจำหน่ายทั่วโลก ราคาจำหน่ายกำหนดไว้ที่ 1,900 ยูโร หรือราว 70,600 บาท ซึ่งถือว่าเป็นระดับราคาที่น่าสนใจมากเมื่อเทียบกับรูปลักษณ์ที่จำแลงมาจากนาฬิกาข้อมือแบบแรกในประวัติศาสตร์การผลิตนาฬิกาของญี่ปุ่น

SEIKO JUNE 23 CONTENT RGT