by: ‘TomyTom’
เชื่อว่าชาวนาฬิกานิยมทั่วโลกคงมีคำถามในใจว่าเมื่อไร Seiko (ไซโก) จะผลิตนาฬิกาแนวสปอร์ตเรโทรพร้อมกลไกอัตโนมัติฟังก์ชันจับเวลาออกมาให้เป็นเจ้าของกันเสียที บัดนี้คำถามนั้นได้ถูกตอบอย่างโดนใจแล้วในทันทีที่เห็นภาพ Prospex Speedtimer Mechanical Chronograph Limited Edition (โพรสเป็กซ์ สปีดไทเมอร์ เมคานิคัล โครโนกราฟ ลิมิเต็ด เอดิชั่น) นาฬิกาผลิตจำนวนจำกัด 1,000 เรือน รหัสประจำตัว SRQ035 รุ่นนี้ ซึ่งนับเป็นสายพันธุ์ล่าสุดในตระกูลนาฬิกาสปอร์ตระดับจริงจังคอลเลกชั่น Prospex ทั้งยังเปิดตัวออกมาพร้อมกับเพื่อนพ้องร่วมสายพันธุ์ Prospex Speedtimer Chronograph อีก 5 รูปแบบ ประกอบด้วยนาฬิกากลไกอัตโนมัติโครโนกราฟเวอร์ชั่นมาตรฐาน 1 แบบ และนาฬิกาควอตซ์โครโนกราฟพลังงานแสงอีก 4 แบบด้วยกัน โดยทั้งหมดจะเริ่มวางจำหน่ายพร้อมกันทั่วโลกในเดือนพฤศจิกายน 2021
Seiko Prospex Speedtimer Chronograph เจเนอเรชั่น 2021
Seiko Speedtimer รุ่นบุกเบิกเมื่อ ค.ศ. 1969 ในฐานะหนึ่งในตระกูลนาฬิกา 5 Sports
สารตั้งต้นที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับการออกแบบนาฬิกาโครโนกราฟสายพันธุ์ใหม่ของ Seiko ชุดนี้ก็คือ Speedtimer นาฬิกาสปอร์ตฟังก์ชันจับเวลา กลไก Cal.6139 ของ Seiko ที่เปิดตัวสู่ตลาดเมื่อ ค.ศ. 1969 ในฐานะนาฬิกาข้อมือกลไกอัตโนมัติฟังก์ชันจับเวลา ระบบ ‘Column-wheel’ (คอลัมน์วีล) และ ‘Vertical-clutch’ (เวอร์ติคัลคลัทช์) แบบแรกของโลก แต่นำมาตีความใหม่ให้มีลักษณะคลาสสิกร่วมสมัยในตัวเรือนพร้อมสายสเตนเลสสตีลที่ออกแบบขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยแบบที่ใช้กลไกอัตโนมัติจะถูกออกแบบให้ตัวเรือนมีความหนาบึกบึน และเน้นแนวสันคมกับดีไซน์ของขาตัวเรือนและขอบตัวเรือน เพื่อแสดงลักษณะของนาฬิกาสปอร์ตโครโนกราฟสมัยทศวรรษ 1960s ขณะที่แบบที่ใช้พลังแสงจะมาในดีไซน์ตัวเรือนที่บางสลวยกว่า และมีแนวเส้นโค้งละมุนกว่ากันอย่างชัดเจน ทั้ง 2 รูปแบบตัวเรือนสามารถกันน้ำได้ถึงระดับความลึกเทียบเท่า 100 เมตร และต้านทานแม่เหล็กได้ถึงระดับ 4,800 A/m เช่นเดียวกัน และอีกสิ่งที่ Seiko ตั้งใจออกแบบใหม่ให้กับสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะก็คือ สายสเตนเลสสตีลแบบ 3 แถว สไตล์สปอร์ตข้อหนาที่มีฝั่งด้านบนเป็นแนวโค้ง ส่งผลให้น้ำหนักศูนย์ถ่วงมาอยู่ที่ด้านล่างของข้อสาย ทำให้รู้สึกมั่นคงและสวมใส่ได้อย่างสบายข้อมือ โดยผิวด้านหน้าปัดลายละเอียดในแนวดิ่งอย่างสวยงาม ส่วนตัวล็อกเป็นแบบบานพับ 3 ทบ ปลดล็อกด้วยปุ่มกด ทั้งหมดนี้รวมเข้าด้วยกันเป็นทายาทผู้สืบสานตำนานนาฬิกา Speedtimer ที่ริเริ่มไว้อย่างยิ่งใหญ่เมื่อ ค.ศ. 1969 ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ภายในตัวเรือนสเตนเลสสตีลเคลือบ ‘Super-hard Coating’ (ซูเปอร์ฮาร์ด โคติง) เพิ่มความแข็ง ดีไซน์คมคายและบึกบึนของ Prospex Speedtimer Mechanical Chronograph บรรจุด้วยกลไก ‘In-house’ (อินเฮาส์) อัตโนมัติฟังก์ชันโครโนกราฟ Cal.8R46 ความถี่การทำงาน 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง สำรองพลังงานได้สูงสุด 45 ชั่วโมง จำนวนทับทิมรวม 34 ชิ้น ซึ่งพัฒนาขึ้นใหม่บนพื้นฐานของกลไกโครโนกราฟตระกูล 8R โดยยังคงมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ Cal.8R48 แต่ลดจำนวนวงหน้าปัดย่อยจาก 3 วง เหลือแค่ 2 วง ณ ตำแหน่ง 3 กับ 9 นาฬิกา ตามสไตล์ ‘Bi-compax’ (ไบคอมแพ็กซ์) ซึ่งก็ทำให้ระยะการจับเวลารวมกระทำได้แค่ 30 นาที เพราะวงหน้าปัดและชิ้นส่วนกลไกที่หายไปก็คือมาตรจับเวลา 12 ชั่วโมงนั่นเอง หากแต่ฟังก์ชันวันที่ยังคงมีอยู่เช่นเดิม โดยหนนี้เจาะช่องหน้าต่างเป็นกรอบสี่เหลี่ยมไว้ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ซึ่งมอบความสมดุลให้กับองค์ประกอบหน้าปัดโดยสมบูรณ์ แน่นอนว่าระบบจับเวลายังคงควบคุมด้วย ‘Column-Wheel’ ร่วมกับ ‘Vertical Clutch’ ซึ่งสืบทอดมรดกมาจาก Cal.6139 อันเป็นขุมพลังของ Speedtimer รุ่นบุกเบิกเมื่อ ค.ศ. 1969 เช่นเดียวกับพี่น้องร่วมตระกูล 8R ที่พิสูจน์แล้วถึงความเที่ยงตรงแม่นยำ และความทนทานของระบบจับเวลา ตลอดจนความดีเลิศของชุดปล่อยจักรน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง ซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างชิ้นส่วนด้วยเทคโนโลยี MEMS ที่ช่วยเพิ่มเสถียรภาพความเที่ยงตรงของการควบคุมเวลา และที่น่ายินดีก็คือ Seiko เปิดโอกาสให้ชมกลไกได้ชัดๆ ด้วยการใช้ฝาหลังชนิดกรุกระจกใส
กลไก ‘In-house’ อัตโนมัติโครโนกราฟ Cal.8R46
Prospex Speedtimer Mechanical Chronograph Limited Edition SRQ035
ตัวเรือนขนาด 42.5 มิลลิเมตร ปัดลายละเอียดในแนวดิ่ง ของ Prospex Speedtimer แบบกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟนอกจากจะมาในดีไซน์บึกบึนด้วยความหนาถึง 15.1 มิลลิเมตร ที่หนาทั้งขอบตัวเรือนปัดเงาและตัวเรือนด้วยเส้นสายที่เน้นแนวสันคมเป็นหลักแล้ว ยังมากับกระจกหน้าปัดคริสตัลแซพไฟร์ทรงกล่องที่มีผิวโค้งทั้งฝั่งด้านนอกและด้านในพร้อมเคลือบสารกันแสงสะท้อนที่ด้านในเพื่อเน้นอารมณ์วินเทจ โดย Prospex Speedtimer Mechanical Chrograph รุ่น ‘Limited Edition’ รหัส SRQ035 ผลิตจำนวนจำกัด 1,000 เรือน จะมากับปุ่มกดทรงแป้นลูกสูบขนาดใหญ่ที่เอื้อต่อการกดใช้งานอย่างเต็มที่ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากปุ่มกดของนาฬิกาพกจับเวลาความละเอียด 1/5 วินาที ที่ Seiko สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1964 เช่นเดียวกับลักษณะของเม็ดมะยมขนาดใหญ่ที่มีแนวร่องเป็นซี่ห่างเพื่อให้จับหมุนได้ถนัด อีกทั้งรูปแบบหน้าปัดของนาฬิกาพกจับเวลาที่เน้นให้อ่านค่าได้อย่างแม่นยำเรือนนั้นยังถูกนำมาอ้างอิงเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบรายละเอียดบนหน้าปัดด้วย เราจึงได้เห็นแผ่นหน้าปัดสีขาวผิวเรียบที่พิมพ์สเกลนาทีสีดำแบบเส้นขีดสับหว่างด้วยเลขนาที 2 หลัก ณ ตำแหน่งเลขคู่ ร่วมกับสเกลวินาทีเส้นถี่ต่างความยาวกับระดับย่อยของวินาที และมีจุดเล็กๆ ตามตำแหน่งวินาที รวมไปถึงฟอนต์ตัวเลขอารบิกที่แทบไม่ต่างไปจากนาฬิกาพกจับเวลาเรือนต้นแบบ แม้แต่เข็มในวงหน้าปัดย่อยทรงดาบและเข็มจับเวลาวินาทีเรียวยาวที่กางเป็นพื้นที่เหลี่ยมบริเวณแกนเข็ม ก็ยังมีลักษณะที่จงใจออกแบบให้คล้ายกันด้วย
นาฬิกาจับเวลาแบบพกพา ความละเอียด 1/5 วินาทีที่ Seiko ผลิตขึ้นใน ค.ศ. 1964
ลักษณะที่ต่างไปจากหน้าปัดนาฬิกาพกจับเวลาปี 1964 เรือนนั้นมีแค่สเกลวินาทีและสเกลนาทีจับเวลาของวงหน้าปัดย่อยที่ไม่ได้เป็นแนวรางรถไฟแบบที่เห็นในนาฬิกาพกเรือนต้นฉบับ แต่มาในลักษณะแนวเส้นสีดำที่มีระยะความถี่ต่างกัน โดยเป็นรายนาทีกับวินาที สีของเข็มทั้งหลายที่ไม่ได้ทำเป็นสีน้ำเงินเหมือนต้นฉบับ แต่เคลือบด้วยโรเดียมและมีการเคลือบดำบนส่วนชี้แสดงของเข็มจับเวลาวินาทีแทน ทั้งยังทำเก๋ด้วยการดัดส่วนปลายให้เป็นแนวโค้งลงไปให้ใกล้กับสเกลยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการอ่านค่าละเอียดของวินาที ส่วนเข็มจับเวลานาทีก็มีการเคลือบแนวเส้นสีดำเพื่อให้สอดคล้องกับเข็มจับเวลาวินาทีด้วย และเข็มชั่วโมงกับเข็มนาทีทรงคลาสสิกตัดปลายแหลมที่แน่นอนว่าไม่มีในเรือนต้นฉบับ แต่ก็ยังแทรกดีไซน์ให้ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งของเข็มทั้ง 2 มีลักษณะเป็นเข็มเรียวปลายกลม เพื่อให้ดูละม้ายคล้ายกับหัวสกรู 2 ชิ้นซึ่งยึดอยู่ที่ปลายขีดหลักวินาที ณ ตำแหน่ง 1 และ 7 นาฬิกาของเรือนต้นฉบับด้วย นี่ยังไม่รวมระยะการจับเวลาที่ทำได้สูงสุด 30 นาทีเท่ากัน เพราะทาง Seiko ไม่ได้บอกไว้ว่าเป็นความตั้งใจด้วยหรือไม่
นอกจากนี้ก็มีองค์ประกอบต่างๆ ที่เพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ของการเป็นนาฬิกาข้อมือแบบสปอร์ตแนวเรโทรแต่ร่วมสมัย เช่น กรอบหน้าต่างสี่เหลี่ยมสำหรับเปิดให้เห็นเลขวันที่สีดำบนพื้นจานสีขาวที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา สารเรืองแสง ‘Lumibrite’ (ลูมิไบรท์) สีขาวเคลือบเป็นแถบบนเข็มชั่วโมงกับเข็มนาที และเคลือบเป็นจุดกลมล้อมกรอบด้วยเส้นสีดำบนตำแหน่งหลักชั่วโมงทั้ง 12 แนววงแหวนสีดำรอบขอบหน้าปัดที่พิมพ์สเกล ‘Tachymeter’ (ทาคีมิเตอร์) สีขาวเอาไว้ และชื่อแบรนด์ Seiko กับสัญลักษณ์ ‘X’ ประจำตระกูล Prospex พร้อมข้อความ ‘Automatic’ (ออโตเมติก) สีดำบนหน้าปัด และสำหรับรุ่น ‘Limited Edition’ นี้นอกจากสายสเตนเลสสตีลเคลือบสารเพิ่มระดับความแข็ง ‘Super-hard Coating’ ที่ติดตั้งมากับตัวเรือนแล้ว ทาง Seiko ยังมอบสายหนังวัวสีดำที่สร้างให้มีความทนทานเป็นพิเศษมาให้สลับเปลี่ยนใช้งานอีกเส้นหนึ่งด้วย สำหรับราคาจำหน่ายจะอยู่ที่ 3,200 ยูโร หรือราว 127,000 บาท สำหรับตลาดยุโรป
Prospex Speedtimer Mechanical Chronograph SRQ037
ส่วน Prospex Speedtimer Mechanical Chronograph กลไกอัตโนมัติจับเวลารุ่นการผลิตแบบปกติ รหัส SRQ037 ที่เปิดตัวมาพร้อมกันนั้น มีคุณลักษณะและคุณสมบัติของตัวเรือนและสายสเตนเลสสตีล รวมไปถึงกลไกเหมือนกับ ‘Limited Edition’ SRQ035 ทุกประการ ยกเว้นปุ่มกดที่เป็นแป้นกดทรงลูกสูบคล้ายกันแต่ส่วนยอดไม่มีแนวขอบ เม็ดมะยมก็เป็นคนละรูปทรงกัน และรูปแบบดีไซน์บนหน้าปัดซึ่งแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยจะมาในแนวทางเรโทรคลาสสิก ทั้งหมดนี้นำแรงบันดาลใจมาจากนาฬิกาข้อมือฟังก์ชันโครโนกราฟแบบแรกของญี่ปุ่นและของ Seiko อันได้แก่ Crown Chronograph (คราวน์ โครโนกราฟ) ที่สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1964 ถ่ายทอดผ่านหน้าปัดสีเทาดำ ‘Charcoal-gray’ (ชาร์โคลเกรย์) พิมส์สเกลสีขาว ติดตั้งแท่งหลักชั่วโมงเคลือบโรเดียมรูปทรงสี่เหลี่ยมแบบสันคู่ พร้อมเข็มเคลือบโรเดียมที่ออกแบบเข็มชั่วโมงกับเข็มนาทีให้มีขนาดใหญ่และมีปลายแหลมทั้ง 2 ฝั่ง และใช้เข็มขนาดเล็กในวงหน้าปัดย่อยทั้ง 2 แบบบาตอง แต่ต่างขนาดความหนากัน และแต่งด้วยสีขาวในรูปแบบต่างกัน ส่วนวงหน้าปัดขนาดย่อยทั้ง 2 ก็ดุนให้ลึกลงไปจากระนาบหน้าปัดหลัก โดยมีสเกลสีขาวพิมพ์มาในลักษณะของรางรถไฟ ทั้งยังเคลือบสารเรืองแสง ‘Lumibrite’ สีขาวหม่นเพื่อขับเน้นความวินเทจมาให้บนเข็มชั่วโมงกับเข็มนาที และเคลือบเป็นทรงสี่เหลี่ยมแนวนอนไว้ที่ส่วนปลายของแท่งหลักชั่วโมงทั้ง 12 ด้วย ส่วนจานวันที่ใช้สีดำพิมพ์ตัวเลขสีขาว สิ่งที่ใช้ร่วมกับรุ่น SRQ035 เท่าที่เห็นจะมีเพียงแค่วงขอบหน้าปัดสีดำพิมพ์สเกล ‘Tachymeter’ สีขาว และเข็มจับเวลาวินาทีที่เป็นรูปทรงเดียวกันเท่านั้น แต่เคลือบแต่งเข็มบอกเวลาด้วยสีขาว ราคาจำหน่ายในตลาดยุโรปกำหนดไว้ที่ 3,000 ยูโร หรือราว 119,000 บาท
Prospex Speedtimer Solar Chronograph SSC813
มาถึงรุ่นเบาๆ อย่าง Prospex Speedtimer Solar Chronograph (โพรสเป็กซ์ สปีดไทเมอร์ โซลาร์ โครโนกราฟ) ที่มากับทางเลือกถึง 4 รูปแบบกันบ้าง ตัวเรือนสเตนเลสสตีลของรุ่นนี้ถูกออกแบบให้มีความคลาสสิกละมุนตา เต็มไปด้วยส่วนสันโค้งและปัดลายบนผิวด้านหน้าเป็นแนววง แถมยังมีขนาดคลาสสิกร่วมสมัยที่ 39.0 มิลลิเมตร หนา 13.3 มิลลิเมตร และใช้ปุ่มกดทรงกลมขนาดใหญ่กับเม็ดมะยมขนาดใหญ่บากร่องห่างเป็นสันคมที่ให้อารมณ์เรโทรอย่างเต็มเปี่ยม ส่วนขอบตัวเรือนก็มีดีไซน์ที่แผ่กว้างกว่าตัวเรือนของรุ่นกลไกอัตโนมัติอย่างชัดเจน และถูกเคลือบผิวให้เป็นสีดำพร้อมสเกล ‘Tachymeter’ ส่วนกระจกหน้าปัดใช้คริสตัลแซพไฟร์ทรงกล่องเคลือบสารกันแสงสะท้อนที่ฝั่งด้านในในรูปแบบคล้ายกัน แต่มีผิวโค้งที่ฝั่งด้านนอกด้านเดียว แต่สายสเตนเลสสตีลแม้จะมีดีไซน์ที่คล้ายกับรุ่นกลไกอัตโนมัติ แต่ชิ้นเชื่อมกับตัวเรือนมีลักษณะที่ต่างกัน และไม่ได้มีการเคลือบเพิ่มความแข็ง ‘Super-hard Coating’ มาให้อย่างของรุ่นกลไกอัตโนมัติ สำหรับการบอกเวลาอย่างแม่นยำเป็นหน้าที่ของเครื่อง ‘In-house’ แบบควอตซ์ ฟังก์ชันโครโนกราฟจับเวลาสูงสุด 60 นาที พร้อมวันที่ ฟังก์ชันเข็มบอกเวลาแบบ 24 ชั่วโมง และฟังก์ชันบอกพลังงานสำรอง ทำงานด้วยไฟฟ้าจากตัวเก็บประจุที่แปรพลังงานมาจากแสง Cal.V192 Solar Chronograph อันเป็นคาลิเบรอเดียวกับที่ใช้อยู่ในรุ่น Sumo Chronograph Solar (ซูโม่ โครโนกราฟ โซลาร์) นั่นเอง แผงรับแสงอยู่ภายใต้แผ่นหน้าปัดผิวทรายลดแสงสะท้อน โดยจะรับแสงผ่านกรอบวงหน้าปัดย่อย 3 วง อันได้แก่วงบอกเวลาแบบ 24 ชั่วโมง ที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา วงวินาที ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกา และวงจับเวลานาทีที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ซึ่งใช้เข็มเดียวกับการบอกพลังงานสำรอง โดยจะทำหน้าที่บอกพลังงานสำรองในขณะไม่ได้ใช้งานฟังก์ชันจับเวลา เข็มต่างๆ ใช้เป็นสีดำทั้งหมด โดยเข็มชั่วโมงกับนาทีเป็นทรงคล้ายใบพาย ซึ่งเข็มชั่วโมงมีความกว้างกว่าเข็มนาทีอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่เข็มจับเวลาวินาทีมาในทรงเรียวแหลมที่มีรูปสามเหลี่ยมร่วมอยู่ด้วย ส่วนเข็มขนาดเล็กทั้ง 3 เป็นแบบบาตองดูเรียบง่าย แต่มีการแต้มแต่งด้วยสีต่างกันไปบ้างในแต่ละแบบสีหน้าปัด สำหรับแท่งหลักชั่วโมงมาในทรงสี่เหลี่ยมชิ้นหนาหน้าเทเคลือบโรเดียมได้อารมณ์ย้อนยุค โดยบน 4 ตำแหน่งหลักจะมีการเคลือบสารเรืองแสง ‘Lumibrite’ สีขาวหม่นมาให้เช่นเดียวกับบนเข็มชั่วโมง เข็มนาที และสามเหลี่ยมบนเข็มจับเวลาวินาที ส่วนกรอบหน้าต่างทรงเหลี่ยมสำหรับบอกวันที่ถูกเจาะไว้ใต้หลักชั่วโมงตำแหน่ง 4 นาฬิกา และสิ่งหนึ่งที่น่าจะถูกใจใครหลายคนก็คือ การไม่มีคำว่า ‘Solar’ ปรากฏอยู่บนพื้นหน้าปัดอย่างที่มีในนาฬิกากลไกพลังแสงรุ่นต่างๆ โดยส่วนใหญ่ของ Seiko
ทางเลือก 4 รุ่นของ Prospex Speedtimer Solar Chronograph ได้แก่ รหัส SSC813 หน้าปัดสไตล์แพนด้า พื้นสีขาวร่วมกับสเกลและสัญลักษณ์สีดำ ตัดกับวงหน้าปัดขนาดเล็กสีดำพิมพ์สเกลสีขาว เลขวันที่สีดำบนจานสีขาว และสเกล ‘Tachymeter’ สีขาวล้วน Ref.SSC815 หน้าปัดสีกรมท่า สเกลและสัญลักษณ์สีขาว วงหน้าปัดขนาดเล็กสีเทาดำ สเกล ‘Tachymeter’ สีขาวร่วมกับสีแดงระหว่างตำแหน่ง 12 ถึง 3 นาฬิกา เคลือบสีแดงบนเข็มจับเวลาทั้ง 2 เลขวันที่สีขาวบนจานสีดำ และเคลือบบางส่วนของเข็มชั่วโมงกับเข็มนาทีเป็นสีขาว Ref.SSC817 หน้าปัดสีทอง สเกลและสัญลักษณ์สีดำ วงหน้าปัดขนาดเล็กสีดำสเกลสีขาว เลขวันที่สีดำบนจานขาว สเกล ‘Tachymeter’ สีทอง และรุ่นสุดท้าย SSC819 หน้าปัดสีดำล้วน สเกลและสัญลักษณ์สีขาว เลขวันที่สีขาวบนจานดำ และเคลือบบางส่วนของเข็มชั่วโมง เข็มนาที กับเข็มจับเวลาวินาทีเป็นสีขาว ราคาจำหน่ายสำหรับตลาดยุโรปกำหนดไว้ที่ 680 ยูโร หรือราว 27,000 บาท