UN HEADER 23
UN HEADER 23
Home Articles VACHERON CONSTANTIN OVERSEAS CHRONOGRAPH PANDA DIAL - จับเวลาหน้าปัดแพนด้า

VACHERON CONSTANTIN OVERSEAS CHRONOGRAPH PANDA DIAL – จับเวลาหน้าปัดแพนด้า

by : ‘TomyTom’

 

รูปแบบหน้าปัดที่เรียกว่า ‘แพนด้า’ คือหนึ่งดีไซน์เรือนเวลาโครโนกราฟที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1960s ซึ่งมีความคลาสสิกยิ่งจนเป็นที่ติดใจของใครหลายคน และหลายแบรนด์ก็มีออกมาให้จับจองเป็นเจ้าของกัน ล่าสุด Vacheron Constantin (วาเชอรอง กองสตองแตง) ก็อดรนทนไม่ได้ที่จะออกเวอร์ชั่นหน้าปัดแพนด้ามาให้กับนาฬิกาโครโนกราฟในร่างสปอร์ตหรูตระกูล Overseas (โอเวอร์ซีส์) ของตนบ้างแล้ว และนี่คือ Overseas Chronograph (โอเวอร์ซีส์ โครโนกราฟ) Ref.5500V/110A-B686 หน้าปัดแพนด้า

MITSUBISHI

 

หน้าปัดแพนด้าที่ Vacheron Constantin เลือกสร้างนี้ ใช้พื้นสีเงินสว่างที่แต่งผิวด้วยงานปัดลายซาตินแบบ ‘Sunburst’ (ซันเบิร์สต์) ตัดกับวงหน้าปัดย่อยสีดำผิวลายก้นหอย และล้อมทั้งหน้าปัดด้วยวงขอบพื้นลาดสีดำแต่งผิวละเอียดดุจกำมะหยี่ ขณะที่เข็มทั้งหมดและแท่งหลักชั่วโมงใช้ทองขาว 18K โดยเคลือบสารเรืองแสง ‘Super-LumiNova’ (ซูเปอร์ลูมิโนวา) สีขาวมาให้บนหลักชั่วโมงและเข็มชั่วโมงกับเข็มนาที จนแทบจะเต็มพื้นที่ทางด้านหน้า ส่วนข้อความและสเกลบนหน้าปัดก็พิมพ์เป็นสีขาวหรือสีดำสลับกับสีของพื้นผิวเพื่อมอบความชัดเจนสูงสุด ให้สามารถแยกแยะการอ่านค่าจับเวลาออกจากการดูเวลาปกติได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน อันเป็นวัตถุประสงค์แรกที่ทำให้เกิดการออกแบบหน้าปัดแพนด้าขึ้นมาในทศวรรษ 1960s ขณะที่จานกับเลขวันที่เลือกใช้เป็นจานสีขาวพิมพ์เลขสีดำ เพื่อให้กลมกลืนกับพื้นที่รอบกรอบหน้าต่างตำแหน่ง 4-5 นาฬิกา ทั้งหมดนี้ดูสวยสง่าลงตัวยิ่งนัก

 

ดีไซน์ในภาพรวมตลอดจนกลไกยังคงไม่ต่างจาก Overseas Chronograph เจเนอเรชั่นปัจจุบันที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2016 ขนาดตัวเรือนซึ่งเวอร์ชั่นนี้ใช้สเตนเลสสตีลผิวปัดลายซาตินสลับขัดเงาที่แนวเหลี่ยมขอบ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 42.5 มิลลิเมตร ติดตั้งมากับขอบตัวเรือนขัดเงาที่บากเป็นแนวร่องเหลี่ยม 6 ร่อง อันเป็นลักษณะเฉพาะตัว ผนึกกระจกหน้าปัดแซพไฟร์คริสตัล และฝาหลังกรุแซพไฟร์คริสตัล วัดความหนาทั้งหมดได้ 13.7 มิลลิเมตร สามารถกันน้ำได้ 15 บาร์ หรือราว 150 เมตร จากประสิทธิภาพของเม็ดมะยม ปุ่มกด และฝาหลังชนิดขันเกลียว

 

กลไกที่รับใช้อย่างซื่อสัตย์มาตั้งแต่แรกกำเนิดของเจเนอเรชันนี้ก็คือ Cal.5200 กลไก ‘In-house’ (อินเฮาส์) อัตโนมัติ ความถี่ 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง สำรองพลังงานได้ 52 ชั่วโมง จากตลับลานแฝด ขึ้นลานด้วยโรเตอร์ทอง 22K ที่ออกแบบให้เป็นลักษณะของ ‘Wind Rose’ (วินด์ โรส) แผนภูมิทิศทางลมอันเป็นสัญลักษณ์แห่งการเดินทางและการสำรวจ พร้อมฟังก์ชันวันที่ และฟังก์ชันจับเวลาที่กระทำได้สูงสุด 12 ชั่วโมง ด้วยระบบกลไกคลาสสิก ‘Column-wheel’ (คอลัมน์วีล) ที่ออกแบบรูปทรงให้เป็นตรา ‘Maltese Cross’ (มอลตีส ครอส) อันเป็นสัญลักษณ์ประจำแบรนด์ และ ‘Vertical-clutch’ (เวอร์ติคัลคลัตช์) โดยตัวเครื่องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30.0 มิลลิเมตร กับความหนา 6.6 มิลลิเมตร ประกอบด้วยชิ้นส่วน 263 ชิ้น ทับทิม 54 เม็ด และตามมาตรฐานแห่งแบรนด์ ย่อมต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานความเป็นเลิศ ‘Hallmark of Geneva’ (ฮอลล์มาร์ค ออฟ เจนีวา) มาเป็นที่เรียบร้อยและเห็นตรารับรองได้อย่างชัดเจนจากร่องสลักลงสีทองบนสะพานจักร

 

สายที่ติดตั้งมากับตัวเรือนจะเป็นสเตนเลสสตีลผิวปัดลายซาติน ที่ออกแบบข้อให้เป็นรูปทรงครึ่ง ‘Maltese cross’ โดยมีการขัดเงาที่ส่วนแนวปาดเพื่อก่อประกายให้เกิดมิติ อันเป็นดีไซน์สายประจำเจเนอเรชั่น และมอบสายหนังวัวสีดำเย็บด้ายสีขาว และสายยางสีดำ มาให้สลับเปลี่ยน โดยทั้งหมดเป็นสายที่ติดตั้งแบบ ‘Integrated’ (อินทีเกรเตด) เข้ากับตัวเรือนอย่างแนบเนียน และสามารถถอดเปลี่ยนได้อย่างสะดวกง่ายดายโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือใด ๆ

 

ราคาจำหน่ายที่ Vacheron Constantin เรียกไว้สำหรับเวอร์ชั่นนี้ก็คือ 32,500 ฟรังก์สวิส หรือราว 1.186 ล้านบาท เท่านั้นเอง

SEIKO JUNE 23 CONTENT RGT