สงครามโลกครั้งที่ 2 นับเป็นมหาสงครามที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด สมรภูมิในพื้นยุโรปถือเป็นสมรภูมิที่โหดร้ายที่สุดแห่งหนึ่ง ชาวยุโรปเองจะถือว่าวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 เป็นวัน ‘VE Day’ (วี เดย์) หรือ ‘Victory in Europe Day’ (วิกตอรี อิน ยุโรป เดย์) คือวันสิ้นสุดแห่งสงครามอันยาวนานระหว่างนาซีเยอรมันและกลุ่มสัมพันธมิตรที่นำโดยอังกฤษและชาติมหาอำนาจอีก 4 ชาติ ในการต่อสู้กับนาซีเยอรมันจนนำมาสู่ชัยชนะในที่สุด
ที่เกริ่นเริ่มต้นแบบนี้ เป็นเพราะชัยชนะในยุโรปหรือ ‘VE Day’ ถือเป็นวันสำคัญอย่างยิ่ง ทุกคนจึงยกย่องกลุ่มผู้บัญชาการทหารชาติสัมพันธมิตร อันประกอบด้วย Sir Winston Churchill (เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล) Charles de Gaulle (ชาร์ลส์ เดอ โกล) Harry S. Truman (แฮร์รี เอส. ทรูแมน) และ Joseph Stalin (โจเซฟ สตาลิน) ด้วยความยินดียิ่งนี้เอง ทำให้กลุ่มคณะบุคคลที่นำโดย Ernest Baumann (เออร์เนสต์์ เบาแมนน์) ช่างนาฬิกา Louis Cottier (หลุยส์ โกตติเยร์) นักการเมือง และบุคคลชั้นนำของสวิตเซอร์แลนด์ ต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะผลิตนาฬิกาเรือนสุดพิเศษเพื่อมอบแก่ Winston Churchill และผู้บัญชาการชาติสัมพันธมิตรอีก 3 ท่าน เพื่อเป็นของขวัญแสดงความขอบคุณในการนำทัพจนสร้างชัยชนะเป็นผลสำเร็จ
การสร้างสรรค์เรือนเวลาสุดพิเศษนี้ มอบหมายให้บริษัทผลิตนาฬิกาในสวิตเซอร์แลนด์ ‘Agassiz Watch Co.’ (อกาสซิซ วอทช์ คอมปานี) รังสรรค์นาฬิกาเรือนพิเศษ 4 เรือนด้วยกัน สำหรับจอมทัพของชาติสัมพันธมิตรในยุโรป หนึ่งในนั้นก็คือนาฬิกาพกสำหรับ Winston Churchill โดยบริษัท ‘Agassiz Watch Co.’ (ถ้าใครเป็นแฟนแบรนด์ Longines (ลองจินส์) คงคุ้นเคยกับชื่อนี้ดี) ได้ออกแบบนาฬิกาพกแต่ละเรือนให้มีความพิเศษแตกต่างกัน เช่น หน้าปัดลงยาพร้อมสัญลักษณ์แบ่งเขตเวลาสำหรับผู้บัญชาการทั้ง 4 จากแต่ละประเทศ และเขียนบนมาตรแสดงเขตเวลาว่า ‘I.Marshall’ (ไอ.มาร์แชล) หรือ ‘ผู้บัญชาการ’ นั่นเอง ด้านหลังแกะสลักชื่อของแต่ละท่านพร้อมสัญลักษณ์ ‘V’ พาดผ่านแผนที่โลกบนฝาหลังเพื่อรำลึกวันแห่งชัยชนะ โดยมี Louis Cottier เป็นผู้ออกแบบระบบกลไกแสดงเขตเวลาแบบ ‘World Time’ (เวิลด์ไทม์) ซึ่งคิดค้นเมื่อปี 1931 รวมถึงเป็นหัวเรือใหญ่ในการผลิตนาฬิกาพกสุดพิเศษชุดนี้ ตัวเรือน ทั้งสี่ถูกผลิตใน ‘Maison Wenger’ (เมซง เวงเงอร์) ของ Edouard Wenger (เอดูอาร์ด เวงเงอร์) ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเรียนของ Cottier โดย Cottier จะเป็นฝ่ายเทคนิคที่ตระเตรียมระบบกลไกการทำงานและชิ้นส่วนของระบบ ‘World Time’ ให้พร้อมประกอบลงในตัวเรือนที่ผลิตขึ้น (ตลอดระยะเวลาที่ Cottier มีชีวิตอยู่ เขาผลิตกลไกออกมาเพียงแค่ 455 ชุดเท่านั้น แต่ได้สร้างนวัตกรรมให้แก่วงการนาฬิกาไว้มากมาย)
ด้วยระยะเวลาอันจำกัด ทำให้บริษัทผู้รับผลิตจำต้องวางแผนการผลิตนาฬิกาให้รัดกุมขึ้น เพราะ Baumann และคณะมีความต้องการจะส่งมอบนาฬิกาให้ทันภายในวันคริสต์มาสของปี 1945 จึงตกลงกับ Cottier ให้ส่งมอบนาฬิกาทั้งหมดภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 1945 ซึ่งแล้วเสร็จทันการความมุ่งมั่นในการรังสรรค์นาฬิกาอย่างสุดพิเศษสำหรับจอมทัพอย่าง Churchill
ทำให้ Churchill ส่งจดหมายแสดงความขอบคุณแก่คณะบุคคลที่จัดสร้างนาฬิกา โดยจดหมายนี้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สวิสเมื่อปี 1946 เนื้อหาในจดหมายนั้น Churchill ได้กล่าวขอบคุณ และบรรยายถึงความงดงามของนาฬิกาที่ผ่านการผลิตอย่างประณีตวิจิตรบรรจง ก่อนกล่าวขอบคุณคณะทำงานทุกคนอีกครั้งที่มอบนาฬิกาสุดแสนพิเศษนี้แก่เขา
นอกจากนี้ Ernest Baumann ผู้นำกลุ่มในการผลิตนาฬิกาดังกล่าวยังผลิตนาฬิกาพกเหรียญ 100 ฟรังก์สวิส ให้แก่ Henri Guisan (อองรี กีซอง) ผู้บัญชาการทหาร ของกองทัพสวิสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ปกป้องให้สวิสอยู่รอดปลอดภัยจากภัยสงครามอีกด้วย รวมถึงการผลิตนาฬิกาตั้งโต๊ะรุ่นพิเศษให้แก่ Franklin D. Roosevelt (แฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ประกาศเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากถูกญี่ปุ่นโจมตีที่อ่าวเพิร์ล (Pearl Harbour) แต่ทว่าเขาได้ถึงแก่อสัญกรรมไปเสียก่อนในเดือนเมษายน 1945 ก่อนที่สงครามจะสิ้นสุด ทางกลุ่มจึงได้มอบนาฬิกาตั้งโต๊ะแบบ ‘World Time’ ให้แก่ Eleanor Roosevelt (เอเลนอร์ รูสเวลท์) ภริยาของ Roosevelt เพื่อเป็นการระลึกถึงความมุ่งมั่นของเขาในการต่อสู้กับจักรวรรดินาซี
ผลงานนาฬิกาพกเรือนสำคัญที่มอบให้แก่ Sir Winston Churchill เรือนนี้ถูก เรียกขานว่า ‘Victory Watch’ (วิกตอรี วอทช์) ผลิตตัวเรือนขนาด 46.0 มิลลิเมตร ขึ้นจากทอง 18K งดงามด้วยพื้นหน้าปัดชั้นในที่ลงยาแบบ ‘Cloisonné’ (คลัวซงเน) เป็นภาพ ‘St. George and the Dragon’ (เซนต์ จอร์จ แอนด์ เดอะ ดรากอน) อัศวินผู้กล้าที่หาญสู้กับมังกร และถือเป็นนักบุญอังกฤษที่ได้รับความเคารพนับถือ เข็มชั่วโมงออกแบบเป็นรูปทรงตรีศูล แสดงเวลา ‘World Time’ แบบ 24 ชั่วโมง ผ่านวงแหวนรอบขอบหน้าปัดชั้นในที่สามารถหมุนได้ ประดับด้วยสเกล 24 ชั่วโมง พร้อมการแบ่งช่วงกลางวัน-กลางคืน ขอบหน้าปัดชั้นนอกกำกับด้วยชื่อเมืองสำคัญประจำแต่ละเขตเวลา ซึ่งมีมากถึง 44 เมือง ขอบฝาหลังตัวเรือนสลักข้อความ ‘1939 – Prime Minister Winston Spencer Churchill – 1945’ (1939 – ไพรม์ มินิสเตอร์ วินสตัน สเปนเซอร์ เชอร์ชิล – 1945) ทำงานด้วยกลไกไขลานที่ประกอบด้วยทับทิมกันสึก 18 เม็ด
ผลงานเรือนพิเศษนี้ถูกนำออกประมูลโดยสถาบัน ‘Sotheby’s’ (โซเธอบีส์) โดยเคาะขายไปด้วยราคาสูงลิ่วสมคุณค่าความสำคัญที่ 485,000 ปอนด์ จากราคาประเมิน 60,000-100,000 ปอนด์