by: ‘TomyTom’
หลังจากตื่นขึ้นจากหลับใหล แบรนด์นาฬิกาเก่าแก่ Vulcain (วุลเคน) ก็กลับมาโลดแล่นในวงการเครื่องบอกเวลาอีกครั้ง ด้วยการรื้อฟื้นตำนานในอดีตอันรุ่งเรืองแห่งตนขึ้นใหม่ โดยนำรูปแบบของเรือนเวลาแสนคลาสสิกในอดีตกลับมาสร้างใหม่ โดยเริ่มในเดือนตุลาคมปี 2022 ด้วย Cricket (คริกเก็ต) นาฬิกาฟังก์ชันอลาร์มชื่อดัง ตามด้วย Nautique (นอตีค) นาฬิกาดำน้ำเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ จากนั้นก็ตามมาติดๆ กับนาฬิกาโครโนกราฟที่ให้ชื่อว่า Chronographe 1970’s (โครโนกราฟ ไนน์ทีนเซเวนตีส์) ในเดือนนี้
Chronographe 1970’s มาในเรือนสเตนเลสสตีลดีไซน์คลาสสิกขนาดวินเทจตรงยุคกำเนิดดั้งเดิมที่ 38.0 มิลลิเมตร กับความหนารวมกระจกที่ 12.4 มิลลิเมตร งามงดด้วยขอบตัวเรือนแนวลาด ขัดเงาเรียบเกลี้ยง ตัดขอบตรง กระจกหน้าปัดทรงโดมโค้งทั้ง 2 ฝั่ง ที่ดูคล้าย ‘Plexiglass’ (เพล็กซิกลาส) แบบสมัยก่อน แต่ทำจากแซพไฟร์คริสตัลที่เคลือบสารกันแสงสะท้อนมาให้ด้วย ก่อเกิดเป็นลักษณะตัวเรือนแบบที่เรียกว่า ‘Step-case’ (สเต็ปเคส) ที่ผู้หลงใหลนาฬิกาวินเทจชื่นชอบ และปุ่มกดทรงหัวปั๊มขนาดพอเหมาะ ขนาดเม็ดมะยมอารมณ์วินเทจที่มีขนาดกว้างแต่บางเมื่อเทียบกับตัวเรือน ขณะที่ตัวเรือนโค้งผสานสันเหลี่ยมถูกปัดลายบนฝั่งด้านหน้ามาแบบเห็นลายเส้นได้ชัดเจน หากฝาหลังเป็นแบบแผ่นทึบ ส่วนการกันน้ำระบุไว้ที่ระดับเทียบเท่า 50 เมตร ทั้งยังมีสายนาฬิกาให้เลือกจับคู่มากมายหลากแบบหลายสี ทั้งสายหนังผิวเรียบ สายหนังผิวฟอก สายหนังจระเข้ และสายยาง ‘Vulcanized Rubber’ (วัลคาไนซ์ด รับเบอร์) ผิวลายสานฉลุรูระบายอากาศ โดยจะมากับตัวล็อกแบบหัวเข็มขัด
เรือนต้นฉบับที่นำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการออกแบบนั้น เป็นนาฬิกาโครโนกราฟ Vulcain จากยุคทศวรรษ 1970s ที่มากับหน้าปัดสไตล์ ‘Reverse Panda’ (รีเวิร์ส แพนด้า) ซึ่งใช้พื้นหลักสีน้ำเงินตัดกับวงหน้าปัดย่อยสีเทา Chronographe 1970’s จึงย่อมมีเวอร์ชั่นที่ใช้หน้าปัดชุดสีนี้ออกมาโดยใช้เป็นหน้าปัดสีน้ำเงินตัดกับวงหน้าปัดย่อยสีเงิน และก็มีเวอร์ชั่นหน้าปัดชุดสีอื่นออกมาพร้อมกันอีก 3 แบบด้วย คือเวอร์ชั่นหน้าปัดสไตล์ ‘Reverse Panda’ ที่ใช้พื้นหลักสีดำตัดกับวงหน้าปัดย่อยสีเงิน เวอร์ชั่นหน้าปัดสไตล์ ‘Panda’ (แพนด้า) ที่ใช้พื้นหลักสีเงินตัดกับวงหน้าปัดย่อยสีดำ และเวอร์ชั่น ‘Limited Edition’ (ลิมิเต็ด เอดิชั่น) ที่ใช้หน้าปัดแบบสีเดียวโดยเป็นสีแซลมอนแสนละมุนตา ซึ่งกำหนดจำนวนการผลิตไว้แค่ 50 เรือนเท่านั้น
ดีไซน์องค์ประกอบบนหน้าปัดถูกบรรจงอ้างอิงมาจากเรือนต้นฉบับ เราจึงได้เห็นวงหน้าปัดย่อยแบบ 2 วง พื้นผิวลายก้นหอย ล้อมด้วยวงแหวนแนวลาด ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา (สำหรับแสดงค่าจับเวลาเป็นนาที) กับ 9 นาฬิกา (สำหรับแสดงเวลาวินาที) ซึ่งมีพื้นที่วงไม่กว้างนัก และมีการลากสเกลเป็นขีดยาวที่ตำแหน่งนาทีจับเวลาที่ 3, 6 และ 9 ผิวหน้าปัดแบบกึ่งเงาและปัดแต่งเป็นลาย ‘Sunray’ (ซันเรย์) แท่งหลักชั่วโมงทรงบาตองสีเงินที่เป็นขีดบางๆ ซึ่งเบิ้ลเป็นแท่งคู่ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา เข็มชั่วโมงทรงบาตองสีเงินที่มีขนาดไม่หนานัก ฉาบแถบสารเรืองแสง ‘Super-LumiNova’ (ซูเปอร์ลูมิโนวา) เป็นเส้นขีด สารเรืองแสงรูปจุดกลม ณ ตำแหน่งหลักชั่วโมง 10 หลัก (เว้น 12 กับ 6 นาฬิกา) และสเกล ‘Tachymeter’ (ทาคีมิเตอร์) ที่พิมพ์ไว้บริเวณริมหน้าปัด ส่วนสเกลกับข้อความก็เป็นการพิมพ์สลับสีระหว่างสีดำกับสีขาว ตัดตามความเข้มอ่อนของสีหน้าปัดในแต่ละเวอร์ชั่น รวมกันแล้วก่อเกิดเป็นความคลาสสิกที่ได้อารมณ์วินเทจเป็นยิ่งนัก แถมยังเสริมด้วยการพิมพ์ข้อความบนหน้าปัดเพื่อบอกคุณสมบัติที่นาฬิกายุคปัจจุบันแทบไม่มีใครพิมพ์บอกไว้กันแล้ว อันได้แก่ จำนวนทับทิม และ ‘Incabloc’ (อินคาบล็อก) ซึ่งเป็นระบบซับแรงกระแทกที่เกิดกับจักรกลอก
เรื่องที่หลายคนน่าจะอยากทราบในทันทีที่ได้เห็นก็คือ มันใช้กลไกอะไร คำตอบก็คือยังคงใช้กลไกโครโนกราฟแบบไขลาน จับเวลาได้สูงสุด 30 นาที ไร้ฟังก์ชันวันที่ เพื่อรักษาคุณลักษณะของเรือนต้นฉบับเอาไว้ แต่ทว่าเป็นกลไกทับทิม 23 เม็ด ขนาด 30.0 มิลลิเมตร หนา 7.0 มิลลิเมตร ความถี่การทำงาน 28,800 ครั้ง/ชั่วโมง Cal.SW510 M BH b ของ ‘Sellita’ (เซลลิตา) ที่ใช้สถาปัตย์กลไกโครโนกราฟแบบ ‘Cam-lever’ (แคมเลเวอร์) ซึ่งจับเวลาได้สูงสุด 30 นาที ของ ‘Valjoux’ (วัลฌูซ์) เป็นต้นแบบ แต่มีการลงมือปรับปรุงให้สามารถสำรองพลังงานได้นานถึง 63 ชั่วโมง เลยทีเดียว ซึ่งแม้จะไม่เลอเลิศ แต่ก็เป็นกลไกที่ไว้ใจได้ทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือในการทำงาน และความง่ายดายในการบำรุงรักษา (แต่อย่าถามว่าทำไมเวอร์ชั่นหน้าปัดแพนด้าสีเงินวงหน้าปัดย่อยดำในบางภาพจึงพิมพ์บนหน้าปัดว่ามีทับทิม 17 เม็ด ไม่ใช่ 23 เม็ด เหมือนกับเวอร์ชั่นอื่นๆ เพราะไม่ทราบจริงๆ ซึ่งถ้าให้เดาก็คงเป็นความผิดพลาดในการทำหน้าปัดต้นแบบมากกว่า เพราะ 17 เม็ด นั้นเท่ากับจำนวนทับทิมที่ใช้อยู่กับกลไกไขลานโครโนกราฟของ Valjoux ซึ่งใช้อยู่ในรุ่นต้นฉบับ)
Vulcain Chronographe 1970’s ถูกกำหนดราคาจำหน่ายไว้ที่ 2,500 ฟรังก์สวิส หรือราว 93,000 บาท โดยจะเริ่มเปิดให้สั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ของแบรนด์ vulcain.ch ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2023 เป็นต้นไป ซึ่งหากถูกใจกับเวอร์ชั่นหน้าปัด ‘Reversed Panda’ หรือ ‘Panda’ ก็ไม่ต้องรีบตัดสินใจกันนัก แต่หากใครอยากได้เวอร์ชั่นหน้าปัดสีแซลมอนก็ต้องรีบจับจองในทันที เพราะเป็นเวอร์ชั่นผลิตจำนวนจำกัดที่ผลิตเพียง 50 เรือนเท่านั้น